แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้จะปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 6 ปีก็ตาม แต่จากการตรวจสอบของพนักงานคุมประพฤติได้รายงานให้ทราบว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเคยรับตัวจำเลยไว้คุมขังในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งศาลอาญาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นไป คดีถึงที่สุดและจำเลยได้รับการปล่อยตัวไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2536 เนื่องจากได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษฯ จำเลยจึงเป็นผู้กระทำความผิดก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาลสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีฯ ใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่บัญญัติให้ถือว่าจำเลยมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดที่ได้กระทำไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.ล้างมลทินฉบับนี้ใช้บังคับ ดังนั้นต้องถือว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่ศาลจะพิจารณารอการลงโทษให้แก่จำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) (6), 157 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาโดยรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จะปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 6 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 214/2545 ของศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่จากการตรวจสอบของพนักงานคุมประพฤติได้รายงานให้ทราบว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเคยรับตัวจำเลยไว้คุมขังในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งศาลอาญาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 เป็นต้นไป คดีถึงที่สุดและจำเลยได้รับการปล่อยตัวไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2539 เนื่องจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2539 จำเลยจึงเป็นผู้กระทำความผิดก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2539 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ.2539 ใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่บัญญัติให้ถือว่าจำเลยมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดที่ได้กระทำไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติล้างมลทินฉบับนี้ใช้บังคับ ดังนั้น ต้องถือว่าจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่ศาลจะพิจารณารอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าความผิดของจำเลยคดีนี้เกิดจากการขับรถโดยประมาทของจำเลยที่ขับรถตัดโค้งล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตาย และได้ความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของจำเลยประกอบกับฎีกาของจำเลยซึ่งไม่มีผู้ใดคัดค้านว่า ภายหลังเกิดเหตุจำเลยไม่ได้หลบหนีโดยอยู่รอมอบตัวต่อเจ้าพนักงานในที่เกิดเหตุ ทั้งจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ญาติของผู้ตายก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย จำเลยมีอาชีพการงานเป็นหลักแหล่งและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว ตามพฤติการณ์แห่งคดี จึงมีเหตุสมควรปรานีโดยการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไปซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมและจำเลยยิ่งกว่าลงโทษจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและกำหนดมาตรการในการคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 10,000 บาท สำหรับโทษจำคุกของจำเลยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง มีกำหนด 2 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9