คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 494/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 1 อายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา และผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสามนั้น เป็นความผิดที่ได้กระทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหายที่ 2 และผู้เสียหายที่ 3 โดยตรง ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดฐานนี้ให้เกิดผลขึ้นต่างหากจากความผิดฐานอื่น จึงมิใช่กรรมเดียวกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายที่จำเลยกระทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหายที่ 1
ส่วนการที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้กำลังดึงแขนและขู่บังคับให้นั่งรถจักรยานยนต์ไปกับจำเลย ทั้งทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย และทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก และ 310 วรรคแรก แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำอนาจารอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง นั้น เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันไม่ขาดตอนและถือว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 เป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317, 309, 310, 279, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ถูก มาตรา 317 วรรคสาม, 309 วรรคแรก, 310 วรรคแรก และ 279 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 16 ปีเศษ เห็นควรลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุกจำเลย 3 ปี และปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 106 ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี และให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ในเวลาดังกล่าวโดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยดังนี้
1. ให้จำเลยมารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง
2. ให้จำเลยตั้งใจประกอบอาชีพให้เป็นกิจจะลักษณะหรือตั้งใจศึกษาเล่าเรียนโดยนำผลการเรียนมาแสดงด้วยทุกครั้ง
3. ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี ห้ามเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนหรือในสถานเริงรมย์ทุกแห่ง และให้อยู่ในโอวาทผู้ปกครองอย่างเคร่งครัด
4. ให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติหรือจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง
5. ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามดื่มสุรา ห้ามเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดทุกชนิด
หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนด 25 วัน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 107
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารจำคุก 3 ปี ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุก 6 เดือน ฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 5 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 9 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา เป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะได้กระทำความผิดทั้งสามฐานความผิดในคราวเดียวกัน แต่การที่จำเลยพรากผู้เสียหายที่ 1 อายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นมารดา และผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสามนั้น เป็นความผิดที่ได้กระทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหายที่ 2 และผู้เสียหายที่ 3 โดยตรงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดฐานนี้ให้เกิดผลขึ้นต่างหากจากความผิดฐานอื่น จึงมิใช่กรรมเดียวกับความผิดอีกสองฐานที่จำเลยกระทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหายที่ 1 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนการที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้กำลังดึงแขนและขู่บังคับให้นั่งรถจักรยานยนต์ไปกับจำเลย ทั้งทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย และทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก และ 310 วรรคแรก แล้ว จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำอนาจารอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง นั้น เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโดยอยู่ในวาระเดียวกันไม่ขาดตอนและถือว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 เป็นสำคัญ การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวที่วินิจฉัยว่า เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวฎีกาของจำเลยส่วนนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยและคุมประพฤติของจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุเพียง 16 ปีเศษ ยังไม่มีความยั้งคิดเพียงพอ เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับการที่จำเลยสำนึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดโดยชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท ให้ผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 แล้ว หากให้โอกาสจำเลยโดยไม่ต้องส่งจำเลยไปฝึกและอบรมน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวมมากกว่า จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยและคุมประพฤติของจำเลยไว้ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยส่วนนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี ปรับ 10,000 บาท ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย ลงโทษฐานกระทำอนาจารฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 5 ปี ปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ฝึกและอบรมแทนมีกำหนด 25 วัน กับให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

Share