คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5536/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำว่า “นับแต่วันรับแจ้งความ” ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 31 วรรคแรกมีความหมายว่านับแต่วันส่งคำชี้ขาดไปถึงผู้รับประเมินหรือนับแต่วันผู้รับประเมินรับคำชี้ขาด ส่วนข้อความตอนท้ายที่ว่า “ให้ทราบคำชี้ขาด” นั้น เป็นเพียงถ้อยคำขยายความให้ชัดเท่านั้น ไม่ได้หมายความเลยไปถึงว่านับแต่วันที่ได้ทราบ ข้อความในคำชี้ขาด แม้ตามพิพากษาภาษีโรงเรือนและที่ดินพุทธศักราช 2475มาตรา 31 วรรคแรกจะใช้คำว่า ผู้รับประเมินก็ตามแต่เมื่อโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสีย ต้องเป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่า ซึ่งมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินคำชี้ขาดแล้ว โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในมาตรา 31 ด้วย กล่าวคือจะต้องนำคดีมาฟ้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รับคำชี้ขาด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2530 และ 2531 กับให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน จำนวนเงิน 442,767.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วทั้งนี้เพราะกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้รับประเมินและเป็นผู้มีอำนาจยื่นคำร้องเพื่อขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตั้งแต่ วันที่ 20 เมษายน 2533 แต่โจทก์กลับนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2533 ซึ่งเกินกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เช่ากิจการโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับโรงเรือนที่พิพาทตั้งอยู่ที่เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในท้องที่แขวงชนะสงครามและแขวงวัดสามพระยา โรงเรือนทั้งสองแห่งกำหนดค่าเช่าไว้ปีละ147,100 บาท มีกำหนด 15 ปี และตกลงให้โจทก์เป็นผู้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตลอดกำหนดเวลาตามสัญญาเช่า เมื่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2530สำหรับโรงเรือนและที่ดินที่ตั้งอยู่ในท้องที่แขวงชนะสงครามและประจำปี พ.ศ. 2531 สำหรับโรงเรือนและที่ดินที่อยู่ในท้องที่แขวงวัดสามพระยาแล้ว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ได้กำหนดค่ารายปีสูงกว่าอัตราค่าเช่าที่โจทก์ต้องชำระแก่กรงโรงงานอุตสาหกรรม โดยโรงเรือนที่แขวงชนะสงครามกำหนดค่าราย ปี 3,177,600 บาท ค่าภาษี 397,200 บาท โรงเรือนที่แขวงวัดสามพระยา กำหนดรายปี 364,540 บาท ค่าภาษี 45,567.50 บาท แล้วประเมินให้เสียภาษีตามนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยการร้องขอของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนและที่ดินพิพาทได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ต่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้พิจารณาแล้วมีคำชี้ขาดให้ยกคำร้อง ขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ โดยยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 7 และแผ่นที่ 28 และแจ้งคำชี้ขาดให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รับใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2533 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 แผ่นที่ 22 และแผ่นที่ 38โจทก์อ้างว่าในฐานะผู้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินรายพิพาท จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการประเมินและการชี้ขาดนี้ไม่เห็นด้วยกับการประเมินและคำชี้ขาด จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีนายยิ่งยง ศรีทอง เป็นอธิบดี ซึ่งเป็นตัวแทนหรือผู้แทนของกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่ทำการแทน กรมโรงงานอุตสาหกรรม คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 22-23 จะมีผลตามกฎหมายก็ต่อเมื่อนายยิ่งยง ศรีทอง ได้รับทราบแล้ว นายยิ่งยง ศรีทองรับทราบเมื่อวันที่ 23 เมษายน2533 ทั้งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินได้บัญญัติข้อความไว้ ว่า “นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด” หากกฎหมายประสงค์จะให้การส่งคำชี้ขาดถึง ถือว่าได้ทราบคำชี้ขาดแล้วก็เพียงบัญญัติว่า “นับแต่วันแจ้งคำชี้ขาด” ไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “ให้ทราบคำชี้ขาด” จึงจะถือว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รับทราบคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ในวันที่ 20 เมษายน 2533 ไม่ได้ ฉะนั้นการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องใน วันที่ 22 พฤษภาคม 2533 จึงยังไม่หมดสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาล เห็นว่าสำหรับพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 31 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า “ผู้รับประเมินผู้ใดไม่พอใจ ในคำชี้ขาด จะนำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องก็ได้ แต่ต้องทำภายในสามสิบวัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด” คำว่า “นับแต่วันรับแจ้งความ” มีความหมายว่า นับแต่วันส่งคำชี้ขาดไปถึงผู้รับประเมินหรือนับแต่วันผู้รับประเมินรับคำชี้ขาดส่วนข้อความตอนท้ายที่ว่า “ให้ทราบคำชี้ขาด” นั้นเป็นเพียงถ้อยคำขยายความให้ชัดเท่านั้น หาได้หมายความเลยไปถึงว่านับแต่วันที่ได้ทราบข้อความในคำชี้ขาด แต่อย่างใดไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือน และที่ดิน บัญญัติเพียงใดผู้รับประเมินเท่านั้นที่ไม่พอใจคำชี้ขาด ต้องนำคดีมาฟ้องภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด ส่วนโจทก์เป็นเพียงผู้มีส่วนได้เสียต้องชำระภาษีโรงเรือนแทน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าจึงไม่ใช่ผู้รับประเมินซึ่งต้องตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องถือว่าโจทก์ทราบคำชี้ขาดในวันที่ 23 เมษายน 2533 นั้นเห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวแม้จะใช้คำว่าผู้รับประเมินก็ตามแต่เมื่อโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสีย เป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดตามฟ้องแล้ว โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในมาตรา 31 ดังกล่าวด้วย กล่าวคือ จะต้องนำคดีมาฟ้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับคำชี้ขาด ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์เป็นพ้องติดตาม เอาทรัพย์คืน จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องร้องติดตามเอาทรัพย์คืนภายในกำหนดอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความฟ้องร้องนั้น ปัญหานี้ไม่ได้มีการยกขึ้นว่ากล่าวและวินิจฉัยมาในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อฟังได้ว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รับแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2533 แต่โจทก์ ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2533 เกินกำหนด 30 วัน จึงไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาล ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share