แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์ระบุว่า โจทก์ที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย ประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัท ว. จำกัด มี ม. เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวและเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้แทนโจทก์ที่ 1 และในฐานะส่วนตัวได้ติดต่อสั่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องหนังและรองเท้ากับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการและผู้แทนของจำเลยที่ 2 ขายสินค้าให้โจทก์ภายหลังโจทก์พบว่า สินค้าของจำเลยชำรุดบกพร่อง ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบและรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยเพิกเฉย คำฟ้องโจทก์ได้กล่าวบรรยายถึงฐานะโจทก์สภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม้โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคล ในคำฟ้องก็ไม่จำต้องระบุชื่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 ในช่องชื่อโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องบรรยายในคำฟ้องอยู่แล้ว และตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้บรรยายไว้แล้วว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1แต่เพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ที่ 2 กระทำการแทนบริษัทโจทก์ที่ 1 เมื่อสัญญาพิพาทเป็นสัญญาที่โจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นนิติบุคคลทำขึ้นโดยผู้มีอำนาจกระทำการเป็นผู้ทำแทนจึงย่อมผูกพันเฉพาะโจทก์ที่ 1 และเฉพาะโจทก์ที่ 1 เท่านั้น มีอำนาจฟ้องคดีได้ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจะฟ้องคดีในนามของตนเองแทนโจทก์ที่ 1 ตามสัญญานั้นไม่ได้ โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2537 โจทก์ที่ 1 โดยโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้แทนและในฐานะส่วนตัว มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการสั่งซื้อรองเท้าบู๊ทชายในประเทศไทยเพื่อนำไปจำหน่ายในประเทศสหพันธรัฐรัสเซียโดยโจทก์ที่ 1 กำหนดแบบและวัสดุที่ใช้ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 สั่งซื้อรองเท้าบู๊ทจากจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ผลิตสินค้าเสร็จแล้ว ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดส่งสินค้าให้โจทก์ทั้งสอง รวม 3 งวด งวดที่ 1 จำนวน 3,600 คู่ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,188,960 บาท งวดที่ 2จำนวน 3,600 คู่ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,188,960 บาท และงวดที่ 3 จำนวน 2,400 คู่ เป็นเงินทั้งสิ้น 33,840 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับสินค้าแล้วพบว่าสินค้ามีความชำรุดบกพร่องและหนังที่ใช้มีคุณภาพต่ำไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ จากนั้นโจทก์ทั้งสองได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 97,328.35 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 90,538 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นการอ้างฐานะของโจทก์ทั้งสองต่างฐานะกัน ทำให้ไม่สามารถต่อสู้โจทก์คนหนึ่งคนใด ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้ด้วยตนเองโดยไม่มีกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 1 กระทำการแทนโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับการซื้อขายรองเท้าบู๊ท โจทก์ทั้งสองติดต่อจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ให้ช่วยหาบุคคลหรือนิติบุคคลที่ทำรองเท้าเพื่อส่งไปจำหน่ายในประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย จำเลยที่ 2 จึงพาโจทก์ทั้งสองไปติดต่อกับจำเลยที่ 3 จากนั้นโจทก์ทั้งสองได้ติดต่อกับจำเลยที่ 3 โดยตรง เมื่อจำเลยที่ 3 นำรองเท้าบู๊ทมาให้โจทก์ทั้งสองดู โจทก์ทั้งสองตรวจดูแล้วจึงให้จำเลยที่ 2 สั่งให้จำเลยที่ 3ผลิตรองเท้าตามตัวอย่าง เมื่อจำเลยที่ 3 ผลิตรองเท้าบู๊ทตามตัวอย่างเสร็จและส่งมอบให้โจทก์ทั้งสองครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองอ้างว่ารองเท้าบู๊ทดังกล่าวชำรุดเสียหายแล้วมอบให้จำเลยที่ 2 ติดต่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 ติดต่อจำเลยที่ 3 ให้โจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ ให้โจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ทั้งสองมิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,365,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง วันที่ 27พฤศจิกายน 2538 ให้ได้ไม่เกิน 6,790.35 ดอลลาร์สหรัฐหรือจำนวน 169,758.75 บาท ตามที่โจทก์ขอ ยกฟ้องจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 2 ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยทั้งสองอ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะคำฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่าโจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดและโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของ ไม่มีข้อความว่า โจทก์ที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการหรือกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 1 นั้น เห็นว่า ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์ระบุว่า “โจทก์ที่ 1มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย ประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัทวัตตัน จำกัด มีนายโมฮัมเหม็ด อิบราฮิม เป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวและเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2537 โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้แทนโจทก์ที่ 1 และในฐานะส่วนตัวได้ติดต่อสั่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องหนังและรองเท้ากับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการและผู้แทนของจำเลยที่ 2 ขายสินค้าให้โจทก์รวม 3 งวด ภายหลังโจทก์พบว่า สินค้าของจำเลยชำรุดบกพร่อง ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบและรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยเพิกเฉย” คำฟ้องโจทก์ได้กล่าวบรรยายถึงฐานะโจทก์ สภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ปัญหาว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะตามคำฟ้องในช่องโจทก์ไม่มีข้อความบรรยายว่าโจทก์ที่ 1 โดยผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแทน และโจทก์ที่ 2 ไม่ต้องการฟ้องในฐานะส่วนตัว เห็นว่าโจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคล ในคำฟ้องไม่จำต้องระบุชื่อผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1ในช่องชื่อโจทก์แต่อย่างใด เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องบรรยายในคำฟ้องอยู่แล้ว และตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้บรรยายไว้แล้วว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1แต่เพียงผู้เดียว โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ 2 นั้น แม้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมิได้ต่อสู้เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 2 ไว้ แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง และเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อติดต่อกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่ 1 พาโจทก์ที่ 2 ไปดูโรงงานของจำเลยที่ 3 จนกระทั่งมีการสั่งซื้อรองเท้าเอกสารการติดต่อซื้อขาย การส่งสินค้าและการชำระราคาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.7-จ.16 มีทั้งระบุชื่อโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ก็ตามแต่ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่ได้ระบุเลยว่า โจทก์ทั้งสองร่วมกันซื้อรองเท้าจากจำเลยทั้งโจทก์ที่ 2 ยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้ในนามของบริษัทโจทก์ที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 2 กระทำการในฐานะส่วนตัวร่วมกับโจทก์ที่ 1 แต่ฟังได้ว่าเป็นการกระทำแทนบริษัทโจทก์ที่ 1 และเมื่อสัญญาพิพาทเป็นสัญญาที่บริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลทำขึ้นโดยผู้มีอำนาจกระทำการเป็นผู้ทำแทนจึงย่อมผูกพันเฉพาะบริษัท และเฉพาะบริษัทเท่านั้นมีอำนาจฟ้องคดีได้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจะฟ้องคดีในนามของตนเองแทนบริษัทตามสัญญานั้นไม่ได้โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2 และยกฟ้องจำเลยที่ 1 คงให้เฉพาะจำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์