แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ จำเลยที่ 1 แพ้คดีตามคำท้าโดยศาลชั้นต้นพิพากยกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว จึงมีผลว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คำพิพากษาย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 และคดีก่อนจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของรวมได้ใช้สิทธิความเป็นเจ้าของครอบไปถึงที่ดินพิพาททั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 อันเป็นการใช้สิทธิฟ้องแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งด้วย ผลแห่งคดีก่อนย่อมผูกพันถึงจำเลยที่ 2 เช่นกัน จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจโต้เถียงโจทก์ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินซึ่งโจทก์รับโอนมรดกมาจากบิดา โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วนซึ่งได้มาโดยการซื้อจากบิดาโจทก์ โดยคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินอันเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ โดยอ้างว่าได้มาโดยบิดาโจทก์โอนสิทธิครอบครองให้จำเลยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2510 ซึ่งคดีดังกล่าวต่อมาจำเลยที่ 2 ขอถอนฟ้องและศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้อง หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองยังเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยทั้งสองให้ออกจากที่ดิน แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าไปรบกวนการครอบครอง และให้เลิกยุ่งเกี่ยวในที่ดินดังกล่าวของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า บิดาโจทก์กู้เงินบิดาจำเลยทั้งสองและยกที่ดินพิพาทให้บิดาจำเลยทั้งสองเป็นการตีใช้หนี้เงินกู้ ในปีเดียวกันนั้นบิดาจำเลยทั้งสองยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์มาจนปัจจุบัน โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครองเมื่อปี 2510 เป็นต้นมา จึงขาดอายุความฟ้องร้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองพร้อมบริวารเข้าไปรบกวนการครอบครอง และให้เลิกยุ่งเกี่ยวในที่ดิน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 5,000 บาท
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาจำนวน 5,000 บาท
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองได้พิพาทกันเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแปลงนี้กันมาแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์และโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีตามคำท้า คดีถึงที่สุด และหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ขอถอนฟ้องคดีดังกล่าว โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ให้ออกไปจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในสองคดีก่อน
มีปัญหาว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์นั้น คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จึงมีผลว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 และแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีนี้เป็นอย่างเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งในที่ดินพิพาทได้ใช้สิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในคดีก่อนดังกล่าวไปแล้ว จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของรวมใช้สิทธิความเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองไปถึงที่ดินพิพาททั้งหมด เพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 อันเป็นการใช้สิทธิฟ้องแทนจำเลยที่ 2 ด้วย ผลแห่งคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ย่อมต้องผูกพันถึงจำเลยที่ 2 เจ้าของรวมอีกคนหนึ่งเช่นกัน จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจโต้เถียงได้ว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่เวลาที่จำเลยที่ 2 บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครอง ซึ่งเป็นการฎีกาว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินกว่า 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองเป็นการไม่ชอบนั้น คดีนี้จำเลยที่ 2 ให้การว่าที่ดินเป็นของจำเลยทั้งสองมาแต่ต้น กรณีจึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฟ้องคดีภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ให้จึงชอบแล้ว การที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าคดีมีประเด็นดังกล่าว และศาลอุทธรณ์ยอมรับวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้จึงมิชอบ เพราะเป็นการรับวินิจฉัยในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ยกปัญหาดังกล่าวฎีกาต่อศาลฎีกา จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.