แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ประมาณ 3,400 ตารางวา ในราคา 18,360,000 บาท มีข้อตกลงว่า จำเลยทั้งสองจะต้องถมที่ดินทั้งแปลง ทำถนนลาดยางเข้าสู่ที่ดินจนถึงหน้าที่ดินที่จะซื้อขาย ปักเสาไฟฟ้าและเดินสายไฟฟ้า 3 สายจนถึงหน้าที่ดินที่จะซื้อขาย แบ่งแยกที่ดินที่จะซื้อขายออกเป็น 6 โฉนด และจดทะเบียนภาระจำยอมทางเดินเพื่อให้ที่ดินที่แบ่งแยกมีทางออกสู่ทางสาธารณะและมีข้อตกลงอื่นอีก ส่วนโจทก์จะชำระราคาส่วนที่เหลือในวันนัดไปจด ทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน หากโจทก์ผิดนัดยอมให้จำเลยทั้งสองริบเงินมัดจำแต่ถ้าจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัด จำเลยยอมคืนเงินมัดจำและยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงิน 3,672,000 บาท ในวันครบกำหนดที่โจทก์และจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจำเลยมิได้ปักเสาไฟฟ้าและเดินสายไฟฟ้าเข้าไปยังที่ดิน ที่จะซื้อขายกันไว้ตามสัญญา และจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนภาระจำยอมทางเดินเพื่อให้ที่ดินที่แบ่งแยกออกไปมีทางออกสู่ถนนสาธารณะ และ ในวันนัดไปจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญา ทั้งฝ่ายโจทก์ และฝ่ายจำเลย ต่างก็ไม่พร้อมที่จะปฏิบัติชำระหนี้ตามสัญญา จะซื้อขายที่ดินที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทั้งสองต่างมีหนี้ที่จะชำระเป็นการตอบแทนกัน เมื่อโจทก์ไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ และเมื่อต่างฝ่ายต่างมิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้ อีกฝ่ายหนึ่งจึงหาตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ แต่การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยคืนมัดจำและชำระค่าปรับตามสัญญา โดยมิได้เรียกร้องให้บังคับจำเลย ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญา และจำเลยให้การ ต่อสู้ว่ามิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยมิได้ฟ้องแย้งให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาและชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือถือว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นอันเลิกกันจำเลยต้องคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2536 โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2381 เนื้อที่3,400 ตารางวา ราคาตารางวาละ 5,400 บาท รวมเป็นเงิน18,360,000 บาท โจทก์ชำระเงินมัดจำในวันทำสัญญา 3,672,000 บาทส่วนที่เหลือตกลงชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์คือวันที่3 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยทั้งสองต้องดำเนินการถมที่ดินทั้งแปลง ทำถนนลาดยางจากทางสาธารณะเข้าถึงหน้าที่ดินเดินเสาไฟฟ้า 3 สายจากถนนสาธารณะเข้าถึงหน้าที่ดินเพื่อใช้กระแสไฟฟ้าในการดำเนินกิจการโรงงานเกี่ยวกับอะลูมิเนียมของโจทก์และจดภารจำยอมให้ที่ดินที่ซื้อขายมีทางออกสู่ทางสาธารณะภายในกำหนดเวลาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน หากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจำเลยทั้งสองยอมคืนมัดจำและยอมเสียค่าปรับ3,672,000 บาท ให้แก่โจทก์จำเลยทั้งสองมิได้เดินเสาไฟฟ้า3 สาย เข้าถึงหน้าที่ดินมิได้จดทะเบียนภารจำยอมทางเดินเพื่อให้ที่ดินมีทางออกสู่ทางสาธารณะและถมที่ดินไม่เต็มเนื้อที่ลาดยางถนนไม่เสร็จเรียบร้อยและมีสภาพไม่มั่นคง นอกจากนี้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของบุคคลอื่น โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนเงินมัดจำ 3,672,000 บาท พร้อมค่าปรับตามสัญญาอีก3,672,000 บาท รวมเป็นเงิน 7,344,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 7,344,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยทั้งสองถมที่ดินเต็มเนื้อที่ ลาดยางถนนและปรับสภาพให้มั่นคงแล้ว จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำขอต่อการไฟฟ้าและชำระค่าธรรมเนียม การไฟฟ้าดำเนินการเขียนแบบการปักเสาไฟฟ้าและแนวการเดินสายไฟฟ้าเข้าไปยังหน้าที่ดินแล้ว ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ติดถนนสาธารณะไม่ต้องจดทะเบียนภารจำยอม และหากมีการโอนกรรมสิทธิ์แก่กันในวันครบกำหนดก็สามารถจดทะเบียนภารจำยอมได้ ทั้งข้อสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงเงื่อนไขอันไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญา เนื่องจากไม่ได้ระบุความรับผิดหรือให้โจทก์มีสิทธิเลิกสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันครบกำหนดตามสัญญา และไม่สามารถชำระราคาส่วนที่เหลือได้จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน5,508,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2381 เนื้อที่ประมาณ 3,400 ตารางวา ในราคา 18,360,000 มีข้อตกลงว่าจำเลยทั้งสองจะต้องถมที่ดินทั้งแปลง ทำถนนลาดยางเข้าสู่ที่ดินจนถึงหน้าที่ดินที่จะซื้อขาย ปักเสาไฟฟ้าและเดินสายไฟฟ้า 3 สายจนถึงหน้าที่ดินที่จะซื้อขาย แบ่งแยกที่ดินที่จะซื้อขายออกเป็น 6 โฉนด และจดทะเบียนภารจำยอมทางเดินเพื่อให้ที่ดินที่แบ่งแยกมีทางออกสู่ทางสาธารณะและมีข้อตกลงอื่นอีกส่วนโจทก์จะชำระราคาส่วนที่เหลือในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537ซึ่งเป็นวันนัดไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน หากโจทก์ผิดนัดยอมให้จำเลยทั้งสองริบเงินมัดจำ แต่ถ้าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดนัดจำเลยทั้งสองยอมคืนเงินมัดจำและยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงิน3,672,000 บาท ตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องคืนเงินมัดจำและชำระค่าปรับแก่โจทก์ตามสัญญาหรือไม่โจทก์มีตัวโจทก์และนายสุขุม วงษ์ศิริวิโรจน์พี่ชายของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537ซึ่งครบกำหนดที่โจทก์และจำเลยทั้งสองจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญา จำเลยทั้งสองมิได้ปักเสาไฟฟ้าและเดินสายไฟฟ้าเข้าไปยังที่ดินที่จะซื้อขายกันไว้ตามสัญญา ความข้อนี้จำเลยทั้งสองก็นำสืบรับว่า ในวันครบกำหนดที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันจะไปจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญา จำเลยทั้งสองยังไม่ได้จดทะเบียนภารจำยอมทางเดินเพื่อให้ที่ดินที่แบ่งแยกออกไปมีทางออกสู่ถนนสาธารณะและยังไม่ได้ปักเสาไฟฟ้าและเดินสายไฟฟ้าเข้าไปในที่ดินที่จะซื้อขายกัน ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำขอปักเสาไฟฟ้าและเดินสายไฟฟ้าต่อการไฟฟ้าอ้อมน้อยแต่ทางการไฟฟ้าอ้อมน้อยยังไม่มาดำเนินการให้นั้นไม่เป็นเหตุอ้างที่จำเลยทั้งสองจะปักความรับผิดได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าภารจำยอมทางเดินให้ที่ดินที่แบ่งแยกออกไปมีทางออกสู่ถนนสาธารณะนั้นจะจดทะเบียนในวันเดียวกันกับวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองที่จะไปจดทะเบียนภารจำยอมในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังแต่ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของโจทก์และนายสุขุมพยานโจทก์ว่า ในวันนัดไปจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโจทก์มีเช็คและแคชเชียร์เช็คติดตัวไปอย่างละ 1 ฉบับ เป็นจำนวนเงินรวมกันเพียง 5,176,160 บาท ตามเอกสารหมาย จ.10ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มีนายสุขุม นายสุรินทร์ เจริญภิญโญชัยและนางสวง นิลชนโำรงศรี พร้อมที่จะช่วยเหลือโจทก์เบิกเงินจากธนาคารมาชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือนั้น โจทก์เบิกความเพียงลอย ๆไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่าในวันดังกล่าวนายสุขุมมีเงินในบัญชีเงินฝากที่ธนาคารเพียง 1,785,245.14 บาทเท่านั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในวันนัดไปจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญา ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทั้งสองต่างก็ไม่พร้อมที่จะปฏิบัติชำระหนี้ตามสัญญา สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ทำกับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทั้งสองต่างมีหนี้ที่จะชำระเป็นการตอบแทนกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 เมื่อโจทก์ไม่พร้อมที่จะชำระหนี้โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และเมื่อต่างฝ่ายต่างมิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้อีกฝ่ายจึงหาตกเป็นผู้ผิดนัดไม่ แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยทั้งสองคืนมัดจำและชำระค่าปรับตามสัญญา โดยมิได้เรียกร้องให้บังคับจำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาและจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่ามิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยมิได้ฟ้องแย้งให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาและชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ ถือว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระค่าปรับ1,836,000 บาท ให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3