คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4546/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การทำแผนที่เกิดเหตุเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน แต่ถึงหาก กระทำโดยไม่ชอบเพราะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก็ไม่มีผลกระทบถึงกับเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ธ-8772กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนเยาวราช จากบริเวณหน้าร้านทองเซ่งเฮงหลี มุ่งหน้าไปทางสี่แยกวัดตึกด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังโดยจำเลยขับรถมาจอดหน้าร้านทองดังกล่าวในช่องเดินรถช่องที่ 2 จากนั้นจำเลยได้ขับรถถอยหลังเพื่อเข้าไปในช่องเดินรถช่องที่ 1 ชิดทางเดินขอบถนนเข้าไปจอดด้านหลังรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ช-7972 กรุงเทพมหานคร ที่นายเกษมสุข แสงวิมลมาส ขับ และกำลังขับรถค่อย ๆ เคลื่อนออกไป โดยหักหัวรถออกไปทางขวาเพื่อให้ พ้นท้ายรถอีกคันหนึ่งซึ่งจอดอยู่ข้างหน้า จำเลยเห็นอยู่แล้วว่า นายเกษมสุขกำลังขับรถเคลื่อนออกจากที่จอดออกไปทางขวาจำเลยจะต้องระมัดระวังหากถอยหลังรถเข้าจอดไม่สนิทจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าทางขวาเพื่อตั้งลำหาจังหวะช่องว่างที่เหมาะสมเพื่อถอยเข้าจอดใหม่อีกครั้งควรจะต้องรอให้รถของ นายเกษมสุข แล่นออกไปโดยปลอดภัยเสียก่อน แต่จำเลยหาใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่ ด้วยความประมาทของจำเลย จำเลย ขับรถแล่นไปข้างหน้าทางขวาด้วยความเร็วโดยไม่รอให้รถของ นายเกษมสุข แล่นออกจากขอบทางริมถนนจนปลอดภัยเสียก่อนเป็นเหตุให้รถจำเลยพุ่งเข้าเฉี่ยวชนด้านข้างขวาของรถนายเกษมสุข ซึ่งกำลังเคลื่อนออกจากที่จอดพอดี ทำให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ช-7972 กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 ลงโทษปรับ 1,000 บาทจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยอ้างเหตุดังกล่าวมีใจความเป็นสำคัญว่า ตามระเบียบการทำแผนที่เกิดเหตุจะต้องให้จำเลยลงลายมือชื่อในแผนที่เกิดเหตุด้วย ถ้าจำเลยไม่ยอมลงลายมือชื่อเพราะเห็นว่าแผนที่เกิดเหตุทำขึ้นนั้นไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานตำรวจจะต้องทำแผนที่เกิดเหตุที่จำเลยเห็นว่าถูกต้องอีกฉบับหนึ่งแล้วให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ แต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำแผนที่เกิดเหตุในคดีนี้มิได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว เห็นว่าการทำแผนที่เกิดเหตุ เป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน แม้จะกระทำโดยไม่ชอบ เพราะอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็ได้นั้น ไม่มีผลกระทบ ถึงกับเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไป ประกอบกับคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องระบุว่าได้ทำการสอบสวนแล้ว จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านปัญหาดังกล่าวนี้ไว้ตั้งแต่แรกเพิ่งมาคัดค้านขึ้นในชั้นอุทธรณ์ย่อมไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยให้จึงต้องฟังว่าคดีนี้ได้มีการสอบสวน โจทก์จึงอำนาจฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share