คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4543/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 การประกอบธุรกิจเงินทุนต้องมีการจัดหาเงินทุนมา แต่โจทก์มิได้ประกอบธุรกิจในการจัดหาเงินทุนมาเพื่อนำออกให้ผู้อื่นกู้ยืม จึงไม่เข้าลักษณะการประกอบธุรกิจเงินทุนอันจะต้อง ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตาม พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ มาตรา 8 วรรคหนึ่ง โจทก์มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจเงินทุน จึงมิใช่สถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2533 มาตรา 3 แต่โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงินและตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับพิพาทโจทก์เรียกดอกเบี้ย จากจำเลยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 โจทก์จึงให้จำเลยกู้ยืมเงินและเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2536 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินและได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์ 500,000 บาท โดยสัญญาจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และจะชำระเงินต้นคืนโจทก์ภายในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2537 แต่จำเลยไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เลย จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องแก่โจทก์เป็นเงิน 618,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2536 จนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2538 โจทก์ได้ฟ้องนางปราณี วังศิริไพศาลภรรยาจำเลยขอให้ชำระเงินตามเช็ค 2 ฉบับ จำนวนเงิน 490,000 บาท และ 102,900 บาท ตามลำดับ ต่อมาโจทก์และนางปราณีตกลงทำยอมกันในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 500/2538 หมายเลขแดงที่ 920/2538
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 หรือไม่ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 500,000 บาท และรับเงินไปจากโจทก์แล้วตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3
ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 และโจทก์ไม่ใช่สถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 โจทก์จึงให้กู้ยืมเงินและเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 บัญญัติว่า”ธุรกิจเงินทุน หมายความว่า ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจำแนกประเภทได้ดังต่อไปนี้” แสดงว่าการประกอบธุรกิจเงินทุนต้องมีการจัดหาเงินทุนมาข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ประกอบธุรกิจในการจัดหาเงินทุนมาเพื่อนำออกให้ผู้อื่นกู้ยืม จึงไม่เข้าลักษณะการประกอบธุรกิจเงินทุนอันจะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ถึงแม้ว่าโจทก์จะมิใช่ผู้ประกอบธุรกิจเงินทุน จึงมิใช่สถาบันการเงินตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2533 มาตรา 3 แต่ปรากฎตามสำเนาหนังสือรับรองของสำนักงานหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดจันทบุรีเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืมเงิน และตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 โจทก์จึงให้จำเลยกู้ยืมเงินและเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share