คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทสองฉบับชำระค่าจ้างถมดินทำถนนให้ส. โดยสัญญาว่าจ้างระบุว่าถ้าส. ผู้รับจ้างถมที่ดินไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนดจำเลยผู้ว่าจ้างสามารถอายัดเช็คทั้งสองฉบับได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้นดังนี้เมื่อส. มิได้ถมดินให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญาจำเลยย่อมมีสิทธิยึดหน่วงการชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับได้ตามกฎหมายรวมทั้งมีสิทธิอายัดการใช้เงินตามเช็คทั้งสองฉบับต่อธนาคารตามสัญญาอันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายและการที่ส. ถมดินทำถนนไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญาส. ย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้เต็มตามสัญญาได้แม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คสองฉบับแต่เป็นการชำระหนี้ตามสัญญาในมูลหนี้อันเดียวกันไม่สามารถแบ่งแยกกันได้การออกเช็คของจำเลยจึงเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2534มาตรา4ระคนอยู่ในจำนวนหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายจำเลยจึงไม่มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาสมุทรสาคร 2 ฉบับ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 จำนวนเงิน550,000 บาท และ 500,000 บาท ชำระหนี้ค่าถมดินทำถนนแก่ผู้มีชื่อต่อมาบุคคลดังกล่าวโอนเช็คชำระหนี้ค่าสินค้าต่อไปและผู้รับโอนเช็คชำระค่าสินค้าต่อให้แก่บริษัทยูนิเวอร์แซล อีควิปเม้นท์จำกัด ผู้เสียหาย ครั้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 เวลากลางวันผู้เสียหายนำเช็คทั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาสะพานกรุงธน เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยเหตุผล “มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย” แสดงว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 3, 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาบริษัทยูนิเวอร์แซล อีควิปเม้นท์ จำกัดผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 รวมสองกรรมให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำคุกกระทงละ 8 เดือน รวมจำคุก 16 เดือน จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาสมุทรสาคร2 ฉบับ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 จำนวนเงิน 550,000 บาทและ 500,000 บาท ชำระค่าว่าจ้างถมดินทำถนนให้นายสมบัติ ยาสาธรนายสมบัตินำไปชำระหนี้แก่บริษัทจักรวาลอะไหล่แทรคเตอร์ จำกัดและบริษัทจักรวาลอะไหล่แทรคเตอร์ จำกัด นำไปชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 โจทก์ร่วมนำเช็คทั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินและในวันที่ 26 พฤษภาคม 2534ซึ่งเป็นวันที่ลงในเช็คจำเลยเป็นหนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาสมุทรสาคร เป็นเงิน 527,806.36 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วนายสมบัติ ยาสาธร พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่าเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2534 จำเลยได้ว่าจ้างไปถมดินข้างทางรถไฟท่าฉลอม บริเวณปากทางเข้าวัดกระซ้าขาว ที่ดินที่จะถมมีระยะทางยาว 1,000 เมตร กว้างประมาณ 8 เมตร ถมให้สูงเท่ากับทางรถไฟ คิดค่าจ้างคร่าว ๆ จำนวน 1,150,000 บาทจำเลยได้ชำระเป็นเงินสดบางส่วน ส่วนที่เหลือออกเช็คให้ 2 ฉบับรวมเป็นเงิน 1,050,000 บาท เช็คลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2534จำเลยบอกว่าเมื่อเช็คถึงกำหนดแล้วให้นำไปเบิกเงินได้ และตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า การรับจ้างถมที่ดินมีการทำสัญญากันคร่าว ๆ ไว้นายเวียง เหนี่ยวรั้งใจ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่าพยานเป็นผู้เขียนสัญญาว่าจ้างถมดิน โดยในสัญญาระบุว่า มีการวางมัดจำกันเป็นเงินสดจำนวนหนึ่งส่วนที่เหลือออกเช็คชำระหนี้ให้นายสมบัติไว้ มีข้อตกลงกันว่าเมื่องานถมดินเสร็จแล้วก็ให้นำเช็คไปขึ้นเงินได้ ก่อนทำสัญญาว่าจ้างกันจำเลยได้วางมัดจำไว้กับนายสมบัติจำนวน 150,000 บาท คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยมีว่า จำเลยได้ว่าจ้างให้นายสมบัติทำถนนเข้าไปยังที่ดินของจำเลย โดยคิดค่าจ้างไร่ละ 240,000 บาท มีข้อตกลงให้ทำถนนกว้างประมาณ 8 เมตรสูงเท่ากับระดับรางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลอง คำนวณระยะทางคร่าว ๆยาวประมาณ 1,000 เมตร รวมเป็นเงินค่าจ้าง 1,200,000 บาทต่อมานายสมบัติบอกจำเลยว่า มีความจำเป็นจะต้องนำเงินไปชำระหนี้ค่ารถแทรกเตอร์และขอร้องให้จำเลยเขียนเช็คตามจำนวนค่าจ้างที่เหลืออยู่ จำนวน 1,050,000 บาท คือเช็คพิพาททั้งสองฉบับในคดีนี้เมื่อออกเช็คให้แล้วจำเลยเห็นว่า มีความจำเป็นจะต้องทำสัญญากันไว้เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในเมื่อนายสมบัติไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว สัญญาที่เบิกความถึงคือเอกสารหมาย ล.1 เมื่อพิเคราะห์เอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเป็นสัญญาว่าจ้างถมดินที่ทำถนนแล้ว เห็นว่าแม้จำเลยจะมิได้นำเอกสารดังกล่าวมาซักค้านนายสมบัติ และนายเวียงพยานโจทก์และโจทก์ร่วม และพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองก็มิได้เบิกความรับรองเอกสารดังกล่าวก็ตาม แต่ข้อความในเอกสารหมาย ล.1 มีเนื้อหาเช่นเดียวกับที่นายสมบัติและนายเวียงเบิกความ โดยมีจำเลยเป็นผู้ว่าจ้าง นายสมบัติเป็นผู้ว่าจ้างและนายเวียงเป็นผู้เขียนสัญญา จึงน่าเชื่อว่าสัญญาว่าจ้างถมดินที่นายสมบัติและนายเวียง พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเบิกความถึงคือสัญญาว่าจ้างถมที่ทำถนนเอกสารหมาย ล.1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลย และนายสมบัติได้ตกลงทำสัญญาว่าจ้างถมที่ทำถนนเอกสารหมาย ล.1 กันจริง ซึ่งตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2ระบุไว้ว่า “ถ้าผู้รับจ้าง (หมายถึงนายสมบัติ ยาสาธร) ถมที่ดินไม่เสร็จ ตามสัญญาภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 ผู้ว่าจ้าง(หมายถึงจำเลย) สามารถอายัดเช็คทั้งสองฉบับนี้ได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น” จึงมีปัญหาต่อไปว่านายสมบัติผู้รับจ้างถมดินทำถนนเสร็จภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 อันเป็นกำหนดเวลาตามสัญญาหรือไม่ ในปัญหานี้นายเวียงพยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ขณะที่เช็คถึงกำหนดชำระนั้นงานถมดินยังไม่แล้วเสร็จ ได้ทราบข่าวว่าจำเลยไปอายัดเช็คไว้ และนายสมบัติพยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้รับจ้างถมดินทำถนนก็เบิกความว่า ประมาณเดือนพฤษภาคม 2534 จำเลยได้ว่าจ้างไปถมดินพยานถมดินให้จนแล้วเสร็จใช้เวลาประมาณ 2 เดือน คำเบิกความของนายสมบัติดังกล่าวนอกจากจะมิได้ยืนยันว่านายสมบัติถมดินทำถนนเสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญาแต่กลับแสดงว่านายสมบัติมิได้ถมดินทำถนนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญา เพราะหากคำนวณระยะเวลาเริ่มต้นว่าจ้างในเดือนพฤษภาคม 2534 ตามที่นายสมบัติเบิกความการถมดินทำถนนก็จะแล้วเสร็จในปลายเดือนมิถุนายน 2534 ซึ่งล่วงเลยกำหนดเวลาตามสัญญา คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวรับกับที่จำเลยนำสืบว่าเมื่อเช็คถึงกำหนดนายสมบัติยังถมดินไม่เสร็จ จำเลยจึงได้แจ้งอายัดเช็คต่อธนาคารข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า นายสมบัติผู้รับจ้างมิได้ถมดินทำถนนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 อันเป็นกำหนดเวลาตามสัญญา การที่นายสมบัติผู้รับจ้างถมดินทำถนนไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาที่ตกลงในสัญญา จำเลยย่อมมีสิทธิยึดหน่วงการชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับได้ตามกฎหมาย รวมทั้งมีสิทธิอายัดการใช้เงินตามเช็คทั้งสองฉบับต่อธนาคารตามสัญญาว่าจ้างถมที่ทำถนนเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2 ซึ่งจำเลยก็ได้มีคำสั่งให้ธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาสมุทรสาคร ระงับการจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยทั้งสองฉบับที่ออกให้แก่นายสมบัติผู้รับจ้างในวันที่ 27พฤษภาคม 2534 อันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย และการที่นายสมบัติผู้รับจ้างถมดินทำถนนไม่เสร็จภายในวันที่ 26 พฤษภาคม2534 ตามสัญญา นายสมบัติย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระหนี้เต็มจำนวนตามสัญญาได้ และเช็คทั้งสองฉบับแม้จะสั่งจ่ายเงินจำนวน 550,000 บาท ฉบับหนึ่งและ 500,000 บาท อีกฉบับหนึ่งแต่ก็เป็นการชำระหนี้ตามสัญญาในมูลหนี้อันเดียวกันไม่อาจแบ่งแยกกันได้ การออกเช็คของจำเลยเป็นการออกเช็คชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ระคนอยู่ในจำนวนหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายในจำนวนเงินที่สั่งจ่ายตามเช็คทั้งสองฉบับการออกเช็คพิพาทของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าในวันที่ 26 พฤษภาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่ลงในเช็คจำเลยเป็นหนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาสมุทรสาคร เป็นเงิน527,806.36 บาท ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยซึ่งไม่ผิดกฎหมายกลับเป็นผิดกฎหมายขึ้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share