คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4540/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีความผิดอันไม่อาจยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนหรือดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 ดังนั้น ผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายมอบอำนาจช่วงโดยชอบหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานอัยการโจทก์มีคำสั่งและฟ้อง การสอบสวนตลอดจนอำนาจฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
ผู้เสียหายได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปและคำคือ และเครื่องหมายการค้าเป็นคำว่า “SQUARE D” แยกต่างหากจากกัน ผู้เสียหายจึงมีสิทธิที่จะเลือกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเครื่องหมายใดเครื่องหมายหนึ่งเพียงเครื่องหมายเดียวกับสินค้าของตน หรือจะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งสองเครื่องหมายประกอบกันกับสินค้าของตนก็ได้ การเสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายปลอม แม้จะเป็นการปลอมเพียงเครื่องหมายเดียวก็อาจเป็นความผิดตามฟ้องได้
มาตรา 114 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ใช้บังคับเมื่อกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลรู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคล เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และลงโทษมาตรา 114 มาด้วย จึงไม่ถูกต้อง
สินค้าของกลางทั้งสี่สำนวนจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในวันเวลาเดียวกันหรือคราวเดียว ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาเดียวที่จะเสนอจำหน่ายสินค้าจำนวนดังกล่าวในคราวเดียวกัน เพียงแต่จำเลยแบ่งสินค้านำไปวางเสนอจำหน่ายเพื่อหากำไรหลายสถานที่ แม้โจทก์จะแยกฟ้องจำเลยเป็นสี่สำนวน เมื่อมีการรวมพิจารณาจึงต้องถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว
การมีสินค้าของกลางไว้เพื่อจำหน่าย เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้ริบสินค้าของกลางได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 โดยไม่ต้องคำนึงว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร และเมื่อพิพากษาให้ริบสินค้าของกลางตามมาตรา 115 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทริบทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 32 และ 33 อันเป็นบททั่วไปอีก
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/43 )

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 ทั้งสี่สำนวนว่าจำเลยที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่ 2 ว่าจำเลยที่ 3 เรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่ 3 และที่ 4 ว่าจำเลยที่ 5 และเรียกจำเลยที่ 3 ในสำนวนที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ว่าจำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110, 114, 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบของกลางทั้งหมดและนับโทษจำเลยที่ 2 ทั้งสี่สำนวนติดต่อกัน
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษติดต่อกัน
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 110, 114, 115 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ฐานร่วมกันเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม โดยสำนวนแรกให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท สำนวนที่ 2 ให้ปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 10,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท สำนวนที่ 3 ให้ปรับจำเลยที่ 2 และที่ 5 คนละ 8,000 บาท และสำนวนที่ 4 ให้ปรับจำเลยที่ 2 และที่ 5 คนละ 12,000 บาท รวมโทษจำเลยที่ 2 เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 130,000 บาท รวมโทษจำเลยที่ 5 เป็นปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ริบของกลางทั้งหมด กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7
จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทั้งสี่สำนวน จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 สำนวนที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกว่า นายรูฟเซล กรรมการบริษัทพิงค์ เคอร์ตั้น (ประเทศไทย) จำกัด แต่ผู้เดียว ไม่มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้นางสาวปริญดาร้องทุกข์แทนบริษัทผู้เสียหาย ดังนั้นในการตรวจค้น จับกุมและสอบสวนคดีทั้งสี่สำนวนนี้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ความผิดคดีทั้งสี่สำนวนนี้เป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความกันได้ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจทำการสอบสวนหรือดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายตามระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 ดังนั้น ไม่ว่านายรูฟเซลจะมีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้นางสาวปริญดาร้องทุกข์แทนผู้เสียหายให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 โดยชอบหรือไม่ก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้กระทบกระเทือนถึงอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วเสนอความเห็นต่อพนักงานอัยการโจทก์ ซึ่งพนักงานอัยการโจทก์ก็ได้มีคำสั่งและฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ในฐานความผิดที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนไว้ การสอบสวนตลอดจนอำนาจฟ้องของโจทก์จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นรูปและคำคือ และเครื่องหมายการค้าเป็นคำว่า “SQUARE D” แยกต่างหากจากกัน ผู้เสียหายจึงมีสิทธิที่จะเลือกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเครื่องหมายใดเครื่องหมายหนึ่งเพียงเครื่องหมายเดียวกับสินค้าของตนก็ได้ หรือจะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งสองเครื่องหมายประกอบกันกับสินค้าของตนก็ได้เช่นเดียวกัน การเสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายปลอม แม้จะเป็นการปลอมเพียงเครื่องหมายเดียวก็อาจเป็นความผิดตามฟ้องได้ ดังนั้น แม้ตามทางพิจารณาจะปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าที่ปิดอยู่บนตัวกล่องโลหะสำหรับบรรจุเครื่องตัดวงจรไฟฟ้าของกลางจะเป็นรูปและคำคือ เพียงเครื่องหมายเดียวโดยไม่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “SQUARE D” รวมอยู่ด้วยดังที่โจทก์บรรยายฟ้องก็ตาม แต่ถ้าหากเครื่องหมายการค้า ดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าปลอม และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ได้เสนอจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีการปลอมเครื่องหมายการค้า ของผู้เสียหาย ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างมาในคำขอท้ายฟ้องและริบสินค้าของกลางได้
มาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ใช้บังคับเมื่อกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคลรู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคล เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และลงโทษตามมาตรา 114 มาด้วยจึงไม่ถูกต้อง
สินค้าของกลางทั้งสี่สำนวนจำเลยที่ 2 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในวันเวลาเดียวกันหรือคราวเดียว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเดียวที่จะเสนอจำหน่ายสินค้าจำนวนดังกล่าวในคราวเดียวกัน เพียงแต่จำเลยที่ 2 แบ่งสินค้านำไปวางเสนอจำหน่ายเพื่อหากำไรที่ร้านค้าของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่คนละสถานที่ แม้โจทก์จะแยกฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นสี่สำนวน เมื่อมีการรวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสี่สำนวนนี้เข้าด้วยกันเสมือนหนึ่งเป็นคดีเดียวกัน จึงต้องถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ทั้งสี่สำนวนเป็นความผิดกรรมเดียวเท่านั้น นอกจากนี้การที่ห้างจำเลยที่ 5 ได้แยกวางเสนอจำหน่ายสินค้าของกลางที่สำนักงานใหญ่และที่สำนักงานสาขาในวันเวลาเดียวกัน ก็หามีผลทำให้การกระทำของจำเลยที่ 5 แยกเป็นความผิด 2 กรรม เพราะต้องถือว่าจำเลยที่ 5 มีเจตนาเดียวที่จะเสนอจำหน่ายสินค้าของกลางในคราวเดียวกัน เพียงแต่แยกวางจำหน่ายในสถานที่ต่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวจึงเป็นความผิดกรรมเดียวเช่นเดียวกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 5 มาเป็นความผิดหลายกรรมตามรายสำนวนจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
คดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 มีสินค้าของกลางไว้เพื่อจำหน่ายอันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้ริบสินค้าของกลางได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 โดยไม่ต้องคำนึงว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร และเมื่อพิพากษาให้ริบสินค้าของกลางตามบทกฎหมาย มาตรา 115 ดังกล่าวข้างต้นซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทริบทรัพย์สินค้าของกลางนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และ 33 อันเป็นบททั่วไปอีก จึงสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องด้วย และปัญหาทั้งหมดดังกล่าวมานั้นเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, มาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ซึ่งมีระวางโทษตามมาตรา 108 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โดยไม่ปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 114 ส่วนสินค้าของกลางทั้งหมดให้ริบตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115 การกระทำของจำเลยที่ 2 ทั้งสี่สำนวนและการกระทำของจำเลยที่ 5 ทั้งสองสำนวนเป็นความผิดกรรมเดียว ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 ให้ปรับ 12,000 บาท คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ปรับ 66,666.66 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จำคุก 8 เดือน และปรับ 66,666.66 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามเดิม จำเลยที่ 3 ให้ปรับ 6,666.66 บาท และจำเลยที่ 5 ให้ปรับ 8,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share