คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดขึ้นใหม่ว่า โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้หรือไม่ ถือเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทไปตามข้ออ้างข้อเถียงในคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่กำหนดไว้แต่เดิมนั้นเอง ซึ่งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้นำสืบไปตามข้อต่อสู้ในคำให้การอยู่แล้วนอกจากนี้การกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ก็กระทำหลังจากคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยไม่มีผลต่อการนำสืบและการรับฟังข้อเท็จจริงตามนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่จำต้องแจ้งให้คู่ความทราบและไม่จำต้องสืบพยานเพิ่มเติม การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้แต่เดิมขึ้นใหม่ก็เพื่อสะดวกในการวินิจฉัยคดีจึงเป็นการกระทำโดยชอบ
โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยซื้อมาจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ตามคำให้การดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาแต่ต้น จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครองที่จะต้องวินิจฉัยเพราะการแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นมิใช่เป็นที่ดินของตนเอง
โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสี่ในฐานะเจ้าของ ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ไม่ใช่ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกซึ่งหมายถึงคดีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนเพิกถอนคำขอรับโอนมรดกที่ดิน ส.ค. 1 เลขที่ 96 หมู่ที่ 12 ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2517 เพิกถอนคำขอรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 96 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2517 เพิกถอนการให้ที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 313/96 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายพรัด ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2518 เพิกถอนการโอนขายที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 96 น.ส.3 เลขที่ 314/96 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ลงวันที่ 20 เมษายน 2533 และวันที่ 23 มิถุนายน 2535 และเพิกถอนการให้ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 8518 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 ลงวันที่ 8 (ที่ถูก 18) ตุลาคม 2538 เสีย แล้วให้ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 96 กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนางชุ่มมารดาของโจทก์ที่ 2 นายเฟื่องและนางฝากตามเดิม หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมไปจดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนรับโอนที่ดินให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสี่
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเล่ม 314/96 หน้า 138 เล่ม 5 ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามเอกสารหมาย ล.9 และโจทก์ที่ 2 มีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 8263 และ 8518 ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 ตามลำดับ โดยให้เพิกถอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่เกี่ยวข้องในที่ดินแปลงดังกล่าวข้างต้น กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย ล.9 และโจทก์ที่ 2 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย นางศิวพร หรือแดงหมื่น ซึ่งเป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์ที่ 1 กับนางอาภาพร ซึ่งเป็นทายาทของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ผู้มรณะตามลำดับ ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทมีหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 96 ตั้งอยู่หมู่ที่ 12 ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มีชื่อนางชุ่ม เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองตามเอกสารหมาย จ.3 นางชุ่มเป็นภริยาของนายต้อย มีบุตรด้วยกันสี่คน คือนายเชื่อง นายเฟื่อง นางฝาก และโจทก์ที่ 2 ส่วนโจทก์ที่ 1 เป็นภริยาของนายเฟื่อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบุตรของนายเชื่องและนางคุ่น จำเลยที่ 3 เป็นสามีจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นบุตรของนางฝากและนายพรัด นางชุ่มถึงแก่ความตายเมื่อปี 2506 และนายเฟื่องถึงแก่ความตายปี 2531 เมื่อปี 2517 ทางราชการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งตำบลขนอม จำเลยที่ 1 นำเอกสารไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า นางคุ่น นายเฟื่องและโจทก์ที่ 2 สละมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองตาม น.ส.3 เล่ม 5 หน้า 95 สารบบเล่ม 96 ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามเอกสารหมาย จ.6 และต่อมามีการแยกที่ดินพิพาทออกเป็น 3 ส่วน ตามรูปที่ดินโดยประมาณในเอกสารหมาย จ.5 แล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินส่วนที่อยู่ตรงกลางให้แก่นายพรัด ตาม น.ส.3 สารบบเล่ม 313/96 ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามเอกสารหมาย จ.26 ส่วนที่ดินทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกคงมีชื่อจำเลยที่ 1 ถือสิทธิครอบครองตาม น.ส.3 สารบบเล่ม 314/96 และ 96 เมื่อปี 2533 จำเลยที่ 1 ขายที่ดิน น.ส.3 สารบบเล่ม 96 ดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ต่อมาปี 2535 จึงขายที่ดินตาม น.ส.3 สารบบเล่ม 314/96 แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 และภายหลังที่ดิน น.ส.3 สารบบเล่ม 96 ได้เปลี่ยนเป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 8263 เอกสารหมาย จ.14 ต่อมาทางราชการตัดถนนสายขนอม-หาดในเพลา ผ่านที่พิพาทจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีข้อโต้แย้งเรื่องแนวเขตที่ดิน จึงมีการตกลงกันโดยจำเลยที่ 2 แบ่งแยกที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 8518 ซึ่งแบ่งแยกจาก น.ส.3 ก. เลขที่ 8263 อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อแรกว่า การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ใหม่จากเดิมซึ่งกำหนดว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นว่าโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ ศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบเพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธินำพยานมาสืบเพิ่มเติมในประเด็นที่กำหนดขึ้นใหม่ การที่ศาลชั้นต้นไม่แจ้งทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีโอกาสคัดค้านและไม่สามารถนำพยานมาสืบเพิ่มเติมทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้เต็มที่ จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดขึ้นใหม่ว่า โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้หรือไม่ ถือเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทไปตามข้ออ้างข้อเถียงในคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นข้อพิพาทเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่กำหนดไว้แต่เดิมนั้นเอง ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้นำสืบไปตามข้อต่อสู้ในคำให้การอยู่แล้ว นอกจากนี้การกำหนดประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ก็กระทำหลังจากคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบเกี่ยวกับเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยไม่มีผลต่อการนำสืบและการรับฟังข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่จำต้องแจ้งให้คู่ความทราบและไม่จำต้องสืบพยานเพิ่มเติมการที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้แต่เดิมขึ้นใหม่ ก็เพื่อสะดวกในการวินิจฉัยคดี จึงเป็นการกระทำโดยชอบ ส่วนปัญหาว่าโจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินคดีนี้แทนหรือไม่นั้น เหตุผลต่างๆ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างมาในฎีกาเป็นรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยไว้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาอ้างเช่นเดียวกับในชั้นอุทธรณ์ว่าตามคำฟ้องระบุเพียงว่าโจทก์ที่ 2 กับบุตรโจทก์ที่ 1 ได้ไปตรวจสอบทางทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ทำเอกสารปลอมรับมรดกที่ดินพิพาทแล้วจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำการฉ้อฉล โดยทำนิติกรรมอำพรางว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยคำฟ้องมิได้ระบุว่าโจทก์ที่ 2 กับบุตรโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนเมื่อวันเวลาใด บุตรของโจทก์ที่ 1 เป็นใครและการที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองมีเหตุผลตลอดจนข้อเท็จจริงอย่างไร ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เข้าใจ และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องได้บรรยายว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนางชุ่ม ก่อนตายนางชุ่มแบ่งแยกให้บุตรสามคนเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดนายเฟื่องครอบครองในส่วนทางทิศตะวันตก นางฝากครอบครองในส่วนตรงกลางนายฝึกหรือโจทก์ที่ 2 ครอบครองในส่วนทางทิศตะวันออก ต่อมานางชุ่มถึงแก่ความตายเมื่อปี 2506 ทายาททั้งสามก็ยังคงครอบครองที่ดินมรดกตามส่วนดังกล่าวข้างต้นตลอดมาจนเมื่อปี 2517 จำเลยที่ 1 ได้ขอนำที่ดินส่วนของนายเฟื่องและส่วนของโจทก์ที่ 2 ไปจำนองเพื่อนำเงินไปลงทุนธุรกิจ นายเฟื่องและโจทก์ที่ 2 เห็นว่า จำเลยที่ 1 รับราชการมีหน้าที่การงานดี จึงไว้ใจทำหนังสือมอบอำนาจให้ไปดำเนินการแต่จำเลยที่ 1 กลับนำเอกสารดังกล่าวไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ที่ดินทั้งหมดเป็นของจำเลยที่ 1 โดยทำหนังสือสละมรดกของนายเฟื่องและโจทก์ที่ 2 ปลอม แสดงความจำนงสละมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 จนเจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองเพียงผู้เดียวและต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินส่วนตรงกลางให้นายพรัด หลังจากนั้นโอนที่ดินทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นสามีภริยากัน แล้วจำเลยที่ 2 โอนที่ดินทางทิศตะวันตกบางส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมต่างๆ เกี่ยวกับที่ดินที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นตลอดจนนิติกรรมที่ผู้รับโอนที่ดินพิพาทส่วนต่างๆ ทำขึ้นด้วย คำฟ้องดังกล่าวจึงบรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว หาจำต้องบรรยายรายละเอียดดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างมาในฎีกาไม่เพราะรายละเอียดดังกล่าวสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา จำเลยที่ 2 และที่ 3 เองก็สามารถให้การต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง และไม่เคลือบคลุมแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อต่อไปว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาทำนองว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีได้เพียงสิทธิครอบครองมาตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2533 และวันที่ 23 มิถุนายน 2535 ตามลำดับ จากนั้นได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลา 7 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งวินิจฉัยไว้ชอบแล้วว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยซื้อมาจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตามคำให้การดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาแต่ต้น ซึ่งการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 จะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่นมิใช่เป็นที่ดินของตนเองเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้ว่ามีสิทธิครอบครองอยู่แล้วจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทเรื่องแย่งการครอบครองที่จะต้องวินิจฉัย ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่อ้างว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกทรัพย์มรดกเกิน 1 ปี นับแต่นางชุ่มเจ้ามรดกตายคดีโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาก็เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เช่นกันว่า คดีนี้เป็นกรณีโจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสี่ในฐานะเจ้าของใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ไม่ใช่ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกซึ่งหมายถึงคดีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความสำหรับเหตุผลหลายประการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างมาในฎีกานั้น ไม่มีผลให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกามาสรุปความได้ทำนองว่า จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 1ปี จึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การต่อสู้ว่ารับซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน อีกทั้งไม่เคยรับรู้ด้วยว่าข้ออ้างต่างๆ ของโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นความจริงหรือไม่ ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทหรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การของตนคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีประเด็นดังกล่าวมาแต่ต้น แม้จำเลยที่ 1 จะให้การต่อสู้ในปัญหาดังกล่าว แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ปัญหานี้จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1ซึ่งไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share