คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 794/2496

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มีไม้สักแปรรูป ซึ่งได้มาจากต้นสักในที่ดินกรรมสิทธิ์ของเอกชนไว้ในครอบครองก่อนวันใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2494 นั้นไม่เป็นผิดตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2494และแม้จะครอบครองต่อมาจนใช้ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2494 ซึ่งบัญญัติว่า’ไม้สักทั่วไปในราชอาณาจักรไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใด เป็นไม้หวงห้ามประเภทก.ฯลฯ’ก็ตาม พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2494 ไม่ได้กล่าวให้มีผลย้อนหลังฉะนั้นจึงจะใช้กฎหมายฉบับหลังให้มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญามิได้ ขัดต่อกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 7 ผู้ครอบครองไม้สักดังกล่าวจึงยังไม่มีผิดตาม พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2494

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยมีไม้สักแปรรูปจำนวน 25 เหลี่ยมเป็นเนื้อไม้ 1.24 เมตรลูกบาศก์ เป็นไม้สักเก่าได้มาจากต้นไม้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ของเอกชนมีไว้ในครอบครองก่อนวันใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยมีไม้สักแปรรูปนั้นไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษ

จำเลยต่อสู้ว่ามีไว้ก่อน พระราชบัญญัติเอาโทษ จึงไม่ควรมีผิด

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับจึงพิพากษาว่าจำเลยผิดตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะจำเลยมีไม้ของกลางไว้ไม่เป็นผิดกฎหมายใหม่ไม่มีผลย้อนหลัง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง คืนไม้ของกลางแก่จำเลย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าใช้กฎหมายฉบับที่ใช้ในขณะที่จำเลยมีไม้ยังไม่เป็นผิด เพราะพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2484 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ไม้สักในป่า ทั่วราชอาณาจักร เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ฯลฯ

ถ้าใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 ก็เป็นผิดเพราะพระราชบัญญัติฉบับหลังนี้ บัญญัติไว้ว่า “ไม้สักทั่วไปในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ในที่ใดเป็นไม้หวงห้าม ประเภท ก. ฯลฯ”

ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 ไม่ได้กล่าวถึงให้มีผลย้อนหลังในเรื่องเช่นนี้ จะใช้กฎหมายใหม่ให้มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญาเช่นนี้ จะกระทำมิได้ขัดต่อ กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 7 จำเลยไม่ควรมีผิด

จึงพิพากษายืน

Share