คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจะมีได้เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง การหย่าโดยคำพิพากษาย่อมมีผลให้การสมรสสิ้นสุดนับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน และให้จำเลยชดใช้ค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ 14,500 บาท นับตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้หย่าเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะสมรสใหม่หรือสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพให้โจทก์เดือนละ 7,500 บาท นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะช่วยเหลือตนเองได้หรือจดทะเบียนสมรสใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 โดยอยู่กินด้วยกันที่รังสิตแกรนด์คอนโด ห้องเลขที่ 550A ซอยคลองหลวง 11 ตำบลคลองหลวง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อปี 2535 เป็นต้นมา จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวกัลยา ที่หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค บ้านเลขที่ 802/300 หมู่ที่ 12 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี และมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายกชกรและนางสาวปริยากร อายุ 18 ปี และ 16 ปี ตามลำดับ (ขณะฟ้อง) ต่อมาปลายเดือนธันวาคม 2553 นางสาวกัลยาพาบุตรทั้งสองไปหาจำเลยกับโจทก์ที่ห้องพัก จากนั้นในเดือนมกราคม 2554 โจทก์ออกจากที่ทำงานเดิมคือบริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สาขาห้วยขวาง เพื่อไปทำงานที่บริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) สาขานครสวรรค์ แล้วแยกกันอยู่กับจำเลยตลอดมา
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาเพียงว่าเหตุฟ้องหย่ามิใช่ความผิดของจำเลยฝ่ายเดียว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากจำเลย เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามข้อวินิจฉัยข้างต้นแล้วย่อมแสดงว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว เมื่อจำเลยมิได้คัดค้านในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าโจทก์ต้องยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากการงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรสอย่างไร และค่าเลี้ยงชีพสูงเกินไปหรือไม่ ย่อมไม่มีประเด็นให้ศาลฎีกาวินิจฉัย จำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจะมีได้เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง คดีนี้เป็นการหย่าโดยคำพิพากษาย่อมมีผลนับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นั้น เมื่อคดีนี้มีการฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้มีผลนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา และที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยเช่นกัน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจนกว่าโจทก์จะสมรสใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share