คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3944/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อกำหนดว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดเวลารวม 36 งวด ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 1 ถึงที่ 10 ล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาตลอดมา แต่โจทก์ก็ยอมรับชำระโดยมิได้ทักท้วง แสดงว่าในทางปฏิบัติโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 11 จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปตามสัญญาไม่ได้ กรณีเช่นนี้หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาโจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาที่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เสียก่อน เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ชำระโจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ อย่างไรก็ตามการที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนจากจำเลยที่ 1 เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดต่อมา และจำเลยที่ 1 ก็ยินยอมให้ยึดโดยไม่โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์พิพาทคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปจากโจทก์ 1 คัน ราคา 999,000 บาทชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญาเป็นเงิน 10,000 บาท ค่าเช่าซื้อส่วนที่เหลือชำระเป็นงวดรายเดือนรวม 36 งวด งวดแรกชำระในวันที่30 พฤศจิกายน 2527 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 30 ของเดือนถัดไปจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 11 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่30 กันยายน 2528 สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกันโดยไม่ต้องบอกกล่าวตามสัญญาข้อ 8 โจทก์ยึดรถยนต์พิพาทคืนมาได้เมื่อวันที่ 11 มีนาคม2530 และขายให้แก่บุคคลอื่นเป็นเงิน 440,000 บาท ราคารถยนต์คันดังกล่าวจึงยังขาดอยู่อีกเป็นเงิน 326,000 บาท นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังจะต้องร่วมกันรับผิดในค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ไม่อาจนำรถยนต์พิพาทออกให้ผู้อื่นเช่าได้อีกเดือนละ 30,000 บาท รวมเป็นเงิน510,000 บาท ด้วย จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายทั้งสองรายการแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ผิดนัดหรือผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน โจทก์ไม่เคยมีหนังสือทวงถามค่าเช่าซื้อและไม่เคยบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์พิพาทไปคืนให้แก่โจทก์เอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อจากโจทก์ 1 คัน ราคา 999,000บาท ชำระค่าเช่าซื้อวันทำสัญญา 10,000 บาท ค่าเช่าซื้อที่เหลือแบ่งชำระ 36 งวด รายเดือน งวดแรกชำระวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527งวดต่อไปชำระวันที่ 30 ของเดือนถัดไป งวดที่ 1 ถึงที่ 10ชำระงวดละ 19,802 บาท งวดที่ 11 ถึงที่ 35 ชำระงวดละ 30,422 บาทงวดที่ 36 ชำระ 30,430 บาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 จ.4
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์อันจะทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยไม่ต้องบอกกล่าวตามฟ้องหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3ข้อ 2 กำหนดว่า ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดเวลารวม36 งวด งวดที่ 1 ชำระภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2527 งวดที่ 2ถึงที่ 36 ชำระภายในวันที่ 30 ของเดือนถัดไป จนครบ 36 เดือนข้อ 8 กำหนดว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดฯลฯ ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แต่ทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 1 ถึงที่ 10 ตรงตามกำหนดเวลาในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 2 ตามบัญชีการชำระหนี้ปรากฏว่างวดที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ชำระเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2528งวดที่ 3 จำเลยที่ 1 ชำระเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 1ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าดังนี้ทุกงวด จนถึงงวดที่ 9 ที่ 10 จำเลยที่ 1ชำระเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2529 แสดงว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ตั้งแต่ งวดที่ 1 ถึงที่ 10 ล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาตลอดมาแต่โจทก์ยอมรับชำระค่าเช่าซื้อโดยมิได้ทักท้วง พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงว่าในทางปฏิบัติโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไปดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 11 ซึ่งถึงกำหนดชำระวันที่ 30กันยายน 2528 จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปตามข้อ 8 ไม่ได้ กรณีเช่นนี้หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาโจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาที่สมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387เสียก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระโจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ซึ่งในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าหลังจากที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดวันที่ 30 กันยายน 2528 แล้วโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้ผ่อนผันให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามงวดได้ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 โดยไม่ถือว่าเป็นการผ่อนผันการผิดนัดครั้งอื่น ๆ ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด ดังนั้น แม้โจทก์จะผ่อนผันการชำระค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญาก็ถือไม่ได้ว่าสัญญาได้เลิกกันไปเองโดยไม่ต้องบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการที่โจทก์ยึดรถยนต์พิพาทคืนจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2530 ตามเอกสารหมาย ล.5เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดต่อมา และจำเลยที่ 1 ก็ยินยอมให้ยึดโดยไม่โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์พิพาทคืน คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 615/2531ระหว่างบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด โจทก์ นายณรงค์ จิรศรยุทธจำเลย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์พิพาทตั้งแต่วันทำสัญญาเช่าซื้อคือวันที่ 30 สิงหาคม 2527 จนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2530เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือนเศษ โดยจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 10 งวด เห็นว่า โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่ได้ใช้รถยนต์พิพาทในระยะเวลานั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องชดใช้ค่าใช้ทรัพย์ให้โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391วรรคสาม เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์พิพาทประกอบอัตราค่าเช่าซื้อซึ่งเป็นค่าที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถรวมกับราคารถยนต์พิพาทแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าใช้ทรัพย์ให้โจทก์จำนวน 180,000 บาท และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ด้วย”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 180,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share