คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยนำสมุดบันทึกการประชุมในวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 ไปให้ จ. และ ส. ลงลายมือชื่อในบันทึกการประชุม ทั้งที่ไม่ได้มีการประชุม และบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่า ร. เป็นผู้จดรายงานการประชุมการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ร. ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่มีชื่อเข้าร่วมประชุมและประชาชนทั่วไปในตำบลท่าเรือ ทั้งเอกสารที่ทำปลอมขึ้นนั้นเป็นบันทึกรายงานการประชุมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นการปลอมเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 265 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือมีหน้าที่ขออนุมัติข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2538 จากสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือเพื่อนำเสนอนายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอนุมัติ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นตาม ป.อ. มาตรา 161 และการที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองสำเนารายงานการประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าวในสำเนาข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ว่ามีการประชุมจริง จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) และจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ และประชาชนในตำบลท่าเรือ โดยการนำงบประมาณมาจัดประมูลให้ผู้รับเหมาทำงานตามที่ตนเองต้องการ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157
จำเลยปลอมบันทึกการประชุม 2 ฉบับ อันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ เจ้าพนักงานปลอมเอกสาร ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็เพื่อให้นายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอนุมัติข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 161, 162, 264, 265
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 161, 162 (1), 264 และ 265 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยดำรงตำแหน่งกำนันตำบลท่าเรือ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือโดยตำแหน่งและเป็นประธานคณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการบริหารการพัฒนาตำบลท่าเรือตามมติของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ รวมทั้งมีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาตำบลและงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อเสนอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาให้ความเห็นชอบ จำเลยจัดทำข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 เพื่อเสนอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาให้ความเห็นชอบ ต่อมาได้มีการนำแผนพัฒนาและงบประมาณดังกล่าว เสนอต่อนายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชและนายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอนุมัติใช้เป็นข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายบุญล้อม บุญชัก นายประยูร อรชร นายสมศักดิ์ เกตุชาติ นายเสรี ดุลเภรี นายสันติ เต็มภาชนะ นายจรินทร์ กาญจนคลอด นายยุทธนา แรกพินิจ นายวิศิษฐ์ หัตถวาศรี นายชำนาญ ลักษณะชฎา นายจรูญ ส่งกลับ นายเสรี อมรพล นายถาวร มีจิตต์ นายบุญเริง ยอดสุรางค์ นายปริญญา สุวัฒน์ฤกษ์ และนายประสิทธิ เถาว์สุด สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือเป็นพยานเบิกความในทำนองเดียวกันยืนยันว่าพยานไม่ได้รับหนังสือเชิญประชุมจากองค์การบริหารส่วนตำบลให้เข้าร่วมประชุมในวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 และพยานไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวซึ่งนายเสรี ดุลเภรี ในฐานะเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือมีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการและจัดการประชุมเบิกความยืนยันอีกว่า ก่อนจะมีการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ พยานจะเป็นผู้ออกหนังสือเชิญประชุมแจ้งแก่สมาชิกทุกครั้ง ในการประชุมวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 พยานไม่ได้ออกหนังสือเชิญสมาชิกสภามาร่วมประชุมในวันดังกล่าวแต่ประการใด แม้ในบันทึกรายงานการประชุมวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 ตามเอกสารหมาย จ. 4 จะปรากฏลายมือชื่อของนายยุทธนา นายวิศิษฐ์ นายชำนาญ นายจรูญ นายเสรี นายถาวร และนายประสิทธิก็ตาม แต่นายวิศิษฐ์ นายชำนาญ นายยุทธนาเบิกความยืนยันว่า ลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอม นายจรูญเบิกความว่า จำเลยนำรายงานการประชุมดังกล่าวไปให้พยานลงลายมือชื่อที่บ้าน นายเสรี อมรพลเบิกความยืนยันว่า จำเลยกับนายบุญเชื้อ ยอดสุรางค์ นำบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวไปให้พยานลงลายมือชื่อที่บ้าน นายถาวรยืนยันว่า นายเลียม บุญเต็มนำบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวไปให้พยานลงลายมือชื่อที่บ้านเช่นเดียวกัน และนายประสิทธิยืนยันว่า พยานได้ลงลายมือชื่อในบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าว ภายหลังขณะไปรับเบี้ยประชุม ดังนั้น ลายมือชื่อของพยานโจทก์ที่ปรากฏในบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการรับรองว่ามีการประชุมในวันดังกล่าวจริงโดยเฉพาะในบันทึกรายงานการประชุมยังปรากฏด้วยว่านายจรินทร์ กาญจนคลอดได้เสนอนายล่อง หาญศึกแก้ว นายหนูนาม แผ่เต็ม และนายสถิต บุญเต็ม เป็นคณะกรรมการพิจารณาร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่าย ทั้ง ๆ ที่นายจรินทร์มิได้เข้าประชุมในวันที่ 15 สิงหาคม 2538 ซึ่งจำเลยก็มิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น หากนายหนูนามพยานโจทก์และนายล่องพยานจำเลยยืนยันว่า ได้มีการประชุมในวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 จริง พยานทั้งสองก็น่าจะยืนยันด้วยว่านายจรินทร์ได้เสนอให้พยานทั้งสองเป็นคณะกรรมการพิจารณาร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่าย โดยเฉพาะนายหนูนามยืนยันว่า ได้รับหนังสือเชิญประชุมล่วงหน้าและพยานจำเลยอื่นที่อ้างว่ามีการประชุมในวันดังกล่าวก็ไม่ปรากฏรายละเอียดว่า ใครเป็นผู้ออกหนังสือเชิญประชุม ทั้งไม่มีการนำหนังสือเชิญประชุมมานำสืบแสดงต่อศาล การที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่ามีการประชุมในวันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 จึงเป็นการกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ส่วนที่นางพวงเพ็ญ เกิดศิริ พยานจำเลยเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้พยานทำหน้าที่เป็นเลขานุการบันทึกรายงานการประชุม ซึ่งพยานเป็นกรรมการบริหารอยู่ด้วย แต่พยานมิได้เบิกความอธิบายให้เห็นว่าเหตุใดพยานจึงต้องมีหน้าที่จดบันทึกรายงานการประชุมทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่ของนายเสรีเลขานุการสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรืออันเป็นการปฏิบัติงานผิดหน้าที่ ทั้งการบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวยังเป็นพิรุธอีกหลายประการ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว ศาลฎีกาไม่จำต้องกล่าวซ้ำอีก พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า วันที่ 15 และ 19 สิงหาคม 2538 ไม่มีการประชุมสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ แม้จำเลยจะเป็นเพียงประธานกรรมการบริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ ไม่มีหน้าที่จัดการประชุมและบันทึกรายงานการประชุมของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มาตรา 59 (2) กำหนดให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาตำบลและงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้เสนอให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมาตรา 60 กำหนดให้ประธานกรรมการบริหารเป็นผู้แทนขององค์การบริหารส่วนตำบล การที่จำเลยนำสมุดบันทึกการประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าวไปให้นายจรูญและนายเสรี อมรพล ลงลายมือชื่อในบันทึกการประชุมทั้งที่ไม่ได้มีการประชุม และบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวระบุว่านายเสรี ดุลเภรีเป็นผู้จดรายงานการประชุม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายเสรี ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่มีชื่อเข้าร่วมประชุมและประชาชนทั่วไปในตำบลท่าเรือ ทั้งเอกสารที่ทำปลอมขึ้นนั้นเป็นบันทึกรายงานการประชุมของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในราชการส่วนท้องถิ่นจึงเป็นการปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ มีหน้าที่ขออนุมัติข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2538 จากสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือเพื่อนำเสนอนายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอนุมัติ จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 และการที่จำเลยลงลายมือชื่อรับรองสำเนารายงานการประชุมทั้งสองครั้งดังกล่าวในสำเนาข้อบังคับเรื่องงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ว่ามีการประชุมจริง จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และจำเลยเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ นายบุญล้อม นายสมศักดิ์ นายประยูร นายสันติ นายจรินทร์ นายเสรี และประชาชนในตำบลท่าเรือ โดยการนำงบประมาณมาจัดประมูลให้ผู้รับเหมาทำงานตามที่ตนเองต้องการ อันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งหมดก็เพื่อให้นายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชอนุมัติข้อบังคับเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2538 ขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือการกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษลงจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นผู้นำชุมชนในตำบล ควรทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนแต่กลับกระทำการละเมิดต่อกฎหมาย ซึ่งการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าวลำพังจำเลยเพียงคนเดียวไม่อาจทำได้ คงจะต้องมีผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นขบวนการโดยแบ่งหน้าที่กันทำเป็นขั้นเป็นตอนเพียงเพื่อประโยชน์ของตนเองกับพวกโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษ และพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share