คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4327/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

งานรักษาความปลอดภัยเป็นงานที่จำเลยรับจ้างทำเป็นปกติธุรกิจของจำเลยไม่ใช่งานที่ทำเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือถือเอาความสำเร็จของงานตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสุดท้าย จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานเป็นลูกจ้างในงานดังกล่าว เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำผิดหรือกระทำการอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามมาตรา 118

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 108,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 108,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 มิถุนายน 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 มีกำหนดระยะเวลาจ้าง 3 ปี ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และสัญญาจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่างานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยเป็นงานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวมีกำหนดการสิ้นสุด และสัญญาจ้างแรงงานได้สิ้นสุดลงตามกำหนดเวลาในสัญญา การเลิกจ้างเป็นไปโดยผลของสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ เห็นว่า งานรักษาความปลอดภัยเป็นงานที่จำเลยรับจ้างทำเป็นปกติธุรกิจของจำเลย ไม่ใช่งานที่ทำเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือถือเอาความสำเร็จของงานตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสุดท้าย จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานเป็นลูกจ้างในงานดังกล่าว เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำผิดหรือกระทำการอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 อันจะทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามมาตรา 118 ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุในสัญญาจ้างเมื่อไรนั้น ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตนั้นเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลแรงงานกลาง จึงไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกันที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share