คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 180 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ อันเป็นกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น ซึ่งมีกำหนดเวลาไว้ว่าการขอแก้ไขต้องยื่นคำร้องก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันแต่ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาไม่มีวันกำหนดดังกล่าว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 180 มาใช้บังคับในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยอนุโลมได้ การที่จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ไม่ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นการยื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมในระยะเวลาแก้ฎีกา คดีนี้จำเลยที่ 2 ได้รับหมายส่งสำเนาฎีกาเพื่อให้แก้ฎีกาภายในสิบห้าวัน โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 ครบกำหนดจำเลยที่ 2 แก้ฎีกาวันที่ 29 มิถุนายน 2553 และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำแก้ฎีกาฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 พ้นกำหนดแก้ฎีกาแล้ว จึงรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ได้รับสำเนาฎีกาโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 และยื่นคำแก้ฏีกา ฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2553 แล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกา และคำสั่งศาลชั้นต้นวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2553 อ้างว่า เพิ่งตรวจพบเอกสารพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุที่จะรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การ อันเป็นกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น ซึ่งมีกำหนดเวลาไว้ว่าการขอแก้ไขต้องยื่นคำร้องก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันแต่ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาไม่มีวันกำหนดดังกล่าว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 มาใช้บังคับในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยอนุโลมได้ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ไม่ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นการยื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมในระยะเวลาแก้ฎีกา คดีนี้จำเลยที่ 2 ได้รับหมายส่งสำเนาฎีกาเพื่อให้แก้ฎีกาภายในสิบห้าวัน โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 ครบกำหนดจำเลยที่ 2 แก้ฎีกาวันที่ 29 มิถุนายน 2553 และจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำแก้ฎีกาฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ไว้แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาในวันที่ 22 สิงหาคม 2557 พ้นกำหนดแก้ฎีกาแล้ว จึงรับเป็นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share