คำวินิจฉัยที่ 4/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้พิพาทให้แก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงซึ่งทำขึ้นภายหลังจดทะเบียนหย่า แต่ยังคงอยู่กินและทำมาหาได้ร่วมกัน จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดข้อตกลง จำเลยเป็นเจ้าของรวมในรถยนต์ตู้พิพาท และโจทก์ยังไม่ชำระเงินที่จำเลยร่วมออกค่าเช่าซื้อและค่าตกแต่งรถให้แก่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง ประเด็นข้อพิพาทมีว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้ให้แก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่อยู่กินร่วมกันภายหลังจดทะเบียนหย่า เพื่อประสงค์จะระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยยอมผ่อนผันให้แก่กัน มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 2 ลักษณะ 1 ว่าด้วยหนี้ บรรพ 3 ลักษณะ 17 ว่าด้วยประนีประนอมยอมความ และบรรพ 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์ ทั้งการซื้อรถยนต์ตู้ก็เกิดขึ้นหลังจากโจทก์กับจำเลยจดทะเบียนหย่ากันแล้ว รถยนต์ตู้พิพาทย่อมไม่เป็นสินสมรส กรณีจึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 ไม่เป็นคดีครอบครัวตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยเคยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ภายหลังจดทะเบียนหย่ากันเมื่อปี 2543 แต่ยังคงอยู่กินฉันสามีภริยาจนกระทั่งวันที่ 4 ธันวาคม 2557 จึงตกลงเลิกกันเด็ดขาดโดยให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการบันทึกลงประจำวันเพื่อตกลงประนีประนอมยอมความในเรื่องทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน เมื่อโจทก์จำเลยชำระหนี้เงินกู้แล้วโจทก์ต้องนำรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน ฌบ – 97398 ที่จำเลยใช้เป็นหลักประกันเงินกู้คืนให้แก่จำเลย และเมื่อโจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์ตู้ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ฮภ – 5427 กรุงเทพมหานคร ให้แก่บริษัทโตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด แล้วจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อต้องโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ให้แก่โจทก์ โจทก์ปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญาแล้ว แต่จำเลยไม่โอนทะเบียนรถยนต์ตู้ให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า หลังจากทำบันทึกข้อตกลงตามฟ้องแล้ว โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ชำระหนี้เงินกู้และส่งมอบรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าให้จำเลย สำหรับรถยนต์ตู้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อและออกเงินตกแต่งรถ ซึ่งโจทก์ต้องคืนเงินส่วนดังกล่าวให้จำเลยแต่โจทก์ไม่คืน จำเลยจึงไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้ให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลจังหวัดสมุทรปราการเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตาม พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้พิพาทให้แก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงซึ่งทำขึ้นภายหลังจดทะเบียนหย่า แต่ยังคงอยู่กินและทำมาหาได้ร่วมกัน จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดข้อตกลง จำเลยเป็นเจ้าของรวมในรถยนต์ตู้พิพาท และโจทก์ยังไม่ชำระเงินที่จำเลยร่วมออกค่าเช่าซื้อและค่าตกแต่งรถให้แก่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้ให้แก่โจทก์หรือไม่ อันเป็นเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่อยู่กินร่วมกันภายหลังจดทะเบียนหย่า เพื่อประสงค์จะระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยยอมผ่อนผันให้แก่กัน มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ลักษณะ 1 ว่าด้วยหนี้ บรรพ 3 ลักษณะ 17 ว่าด้วยประนีประนอมยอมความ และบรรพ 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์ ทั้งการซื้อรถยนต์ตู้ก็เกิดขึ้นหลังจากโจทก์กับจำเลยจดทะเบียนหย่ากันแล้ว รถยนต์ตู้พิพาทย่อมไม่เป็นสินสมรส กรณีจึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ไม่เป็นคดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 25 เดือน มกราคม พุทธศักราช 2559

วีระพล ตั้งสุวรรณ
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ)
ประธานศาลฎีกา

Share