แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ มาตรา 3 นิยามคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” หมายถึง “เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้ความหมายรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง” เช่นนี้ แสดงว่าตามคำนิยามจากบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” มิใช่เป็นการกำหนดความหมายถึงเครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้ไว้โดยลำพัง แต่ได้ระบุโยงไปถึงกฎกระทรวงด้วย และโดยอาศัยอำนาจตามความในบทนิยามคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ “เลื่อยโซ่ยนต์” หมายความว่า (1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังตั้งแต่หนึ่งแรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดยาวตั้งแต่สิบสองนิ้ว ซึ่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2555 เมื่อเหตุคดีนี้เกิดวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 ซึ่งเป็นภายหลังจากวันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องมาให้ครบถ้วน ว่าเลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยทั้งสองมีไว้ครอบครองนั้น เป็นไปตามคำนิยามในกฎกระทรวงด้วย เนื่องจากกำลังแรงม้าและขนาดความยาวของแผ่นบังคับโซ่เป็นข้อสำคัญที่จะบ่งชี้ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดหรือไม่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิด เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า เลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองเป็นเครื่องมือที่มีต้นกำลังตั้งแต่หนึ่งแรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดยาวตั้งแต่สิบสองนิ้ว ตามลักษณะที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าวคำฟ้องโจทก์จึงไม่มีรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 11, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 13, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลางและจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมายด้วย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท และฐานร่วมกันแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท รวมจำคุกคนละ 18 เดือน และปรับคนละ 18,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 9 เดือน และปรับคนละ 9,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครองครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน รวมจำคุกคนละ 1 ปี 9 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 10 เดือน 15 วัน ไม่ปรับ ไม่รอการลงโทษ และยกคำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ มาตรา 3 นิยามคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” หมายถึง “เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้ความหมายรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง” เช่นนี้ แสดงว่าตามคำนิยามจากบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” มิใช่เป็นการกำหนดความหมายถึงเครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้ไว้โดยลำพัง แต่ได้ระบุโยงไปถึงกฎกระทรวงด้วย และโดยอาศัยอำนาจตามความในบทนิยามคำว่า “เลื่อยโซ่ยนต์” ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ “เลื่อยโซ่ยนต์” หมายความว่า (1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังตั้งแต่หนึ่งแรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดยาวตั้งแต่สิบสองนิ้ว ซึ่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2555 เมื่อเหตุคดีนี้เกิดวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 ซึ่งเป็นภายหลังจากวันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับแล้ว โจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องมาให้ครบถ้วน ว่าเลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยทั้งสองมีไว้ครอบครองนั้น เป็นไปตามคำนิยามในกฎกระทรวงด้วย เนื่องจากกำลังแรงม้าและขนาดความยาวของแผ่นบังคับโซ่เป็นข้อสำคัญที่จะบ่งชี้ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดหรือไม่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิด เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่า เลื่อยโซ่ยนต์ที่จำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองเป็นเครื่องมือที่มีต้นกำลังตั้งแต่หนึ่งแรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดยาวตั้งแต่สิบสองนิ้ว ตามลักษณะที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว คำฟ้องโจทก์จึงไม่มีรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้มานั้น จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเฉพาะข้อหาร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ที่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาในข้อหาดังกล่าว โดยโจทก์เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และรอการลงโทษจำเลยทั้งสอง ริบของกลางและจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย โดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในฐานความผิดทั้งสามแต่อย่างใด จึงต้องถือว่าโจทก์พอใจคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยทั้งสองในสามฐานความผิดดังกล่าวแล้ว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้โทษของจำเลยทั้งสองในฐานความผิดทั้งสามฐานดังกล่าว เป็นไม่รอการลงโทษ ไม่ลงโทษปรับ และยกคำขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับ จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท และฐานร่วมกันแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท ฐานร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท รวมจำคุกคนละ 18 เดือน และปรับคนละ 18,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 เดือน และปรับคนละ 9,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตริบของกลาง ให้จ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย