คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4529/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 241 วรรคสองบัญญัติแต่เพียงว่า ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องสอบถามผู้ต้องหาก่อนเริ่มการสอบสวน ดังนั้น แม้หากพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยโดยไม่ได้ถามจำเลยในเรื่องดังกล่าวก่อนดังที่จำเลยอ้างก็ตามก็ไม่เป็นการขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าว การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษ ฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ5 ปี ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุกคนละ 5 ปี รวม 2 กระทง จำคุกคนละ 10 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แก่จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามและจำเลยที่ 2 หนึ่งในสี่คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี6 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นตัวจำเลยที่ 2 พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด อยู่ในกระเป๋าด้านหน้าข้างขวาที่จำเลยที่ 2 สวมใส่อยู่ เมื่อจำเลยที่ 2 ยืนอยู่กับจำเลยที่ 1ในขณะที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ ทั้งในตัวของจำเลยที่ 2 ยังมีเมทแอมเฟตามีนถึง 10 เม็ด เช่นนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1กระทำความผิดตามฟ้อง

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 241 วรรคสองบัญญัติว่าในชั้นสอบสวนผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้แต่ปรากฏว่าการสอบปากคำของจำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2541 ซึ่งมีร้อยตำรวจโทบุญรอด ชื่นจิตต์ เป็นพนักงานสอบสวน และการสอบปากคำเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 ซึ่งมีพันตำรวจโทนิยม ฤกษ์นิยม เป็นพนักงานสอบสวนนั้น ร้อยตำรวจโทบุญรอดและพันตำรวจโทนิพนธ์มิได้แจ้งสิทธิดังกล่าว ให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าต้องการให้ทนายหรือผู้ซึ่งจำเลยที่ 2 ไว้วางใจเข้าร่วมการสอบปากคำหรือไม่ การสอบปากคำตามบันทึกคำให้การและตามบันทึกคำให้การเพิ่มเติม จึงขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตกเป็นโมฆะและการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 241 วรรคสองบัญญัติแต่เพียงว่า ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องสอบถามผู้ต้องหาก่อนเริ่มการสอบสวน ดังนั้น แม้หากพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ถามจำเลยที่ 2 ในเรื่องดังกล่าวก่อนดังที่จำเลยที่ 2 อ้างก็ตาม ก็ไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 241 วรรคสอง แต่อย่างใด การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share