แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศพระบรมราชโองการตามเอกสารหมาย ล.1 ที่มีข้อความว่า”ประกาศขนานนามเปลี่ยนนามตำบลบางกรา แขวงจังหวัดเพชรบุรี มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าในที่หลวงซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นใหม่ ตำบลบางกรา แขวงจังหวัดเพชรบุรีนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามพระราชทานว่ามฤคทายวัน”มีความหมายสองนัย คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามบางกราเปลี่ยนเป็นมฤคทายวัน และโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างที่หลวงขึ้นใหม่ ส่วนประกาศพระบรมราชโองการตามเอกสารหมาย ล.2 ที่มีข้อความว่า “ประกาศ เขตราชนิเวศน์มฤคทายวัน และห้ามไม่ให้ทำอันตรายแก่สัตว์ มีพระบรมราชโองการ ดำรัสเหนือเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ที่ตำบลมฤคทายวันซึ่งโปรดเกล้าฯให้สร้างราชนิเวศน์เป็นที่ประทับขึ้นแล้วนั้น มีเขตด้านตะวันออกชายฝั่งทะเลตั้งแต่วัดบางควายจดบ้านบ่อเคี่ยะยาว 125 เส้นด้านเหนือจากฝั่งทะเลยื่นขึ้นไปถึงเขาเสวยกะปิยาว 190 เส้นด้านใต้ยื่นจากชายทะเลขึ้นไปถึงเขาสามพระยายาว 175 เส้น ด้านตะวันตกตั้งแต่เขาเสวยกะปิถึงเขาสามพระยายาว 125 เส้น ภายในเขตที่เป็นราชนิเวศน์นี้พระราชทานอภัยทานแก่สัตว์ที่ชนมักใช้เป็นภักษาหารทั้งจัตตุบททวิบาทที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ จึงประกาศห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีน้ำจิตร์เป็นสัมมาทิษฐิกระทำร้ายแก่สัตว์นั้น ๆ ด้วยประการใด ๆ ในเขตที่กำหนดมาแล้ว”นั้น เป็นประกาศพระบรมราชโองการที่มีพระราชประสงค์สืบเนื่องจากประกาศพระบรมราชโองการตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งโปรดเกล้าฯ เพียงให้สร้างที่หลวงขึ้นใหม่โดยยังมิได้กำหนดอาณาเขต จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามเอกสารหมาย ล.2 กำหนดเขตที่หลวงที่ได้จัดสร้างขึ้นใหม่ให้แน่ชัด และได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเขตอภัยทานแก่สัตว์ด้วย สถานที่ที่ได้กำหนดตามประกาศพระราชโองการตามเอกสารหมาย ล.1และ ล.2 จึงเป็นสถานที่เดียวกัน ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่หลวง หาใช่เป็นที่ดินที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเขตอภัยทานแก่สัตว์แต่อย่างเดียวไม่ แม้โจทก์จะได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทแล้วก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่หลวงซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 547 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำจังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน จำเลยได้ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินท้องที่ตำบลสามพระยา และตำบลชะอำ อำเภอชะอำจังหวัดเพชรบุรี ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี โดยได้ผนวกเอาที่ดินของโจทก์ดังกล่าวเข้าไปด้วย โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินได้นัดเปรียบเทียบแล้วแต่ตกลงกันไม่ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการรบกวนสิทธิการครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยถอนคำร้องขอออกโฉนดที่ดินที่ทับที่ดินของโจทก์หากไม่ดำเนินการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยห้ามมิให้จำเลยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า จำเลยมีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ดินตามหลักฐาน ส.ค.1เลขที่ 547 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามพระบรมราชโองการซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา พุทธศักราช 2466 และพุทธศักราช 2467การยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นที่หลวง มีอาณาเขตตามที่กำหนดไว้ในพระบรมราชโองการ พุทธศักราช2467 ที่ดินพิพาทอยู่ในที่หลวง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทโจทก์เป็นผู้ครอบครองและได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ตามเอกสารหมายจ.5 ในปี พ.ศ. 2527 ถึง พ.ศ. 2528 จำเลยขอออกโฉนดที่ดินในเขตพื้นที่ที่เป็นเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตำบลชะอำ อำเภอชะอำจังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ดินจำนวน 22,627 ไร่เศษ ครอบคลุมผนวกพื้นที่ดินพิพาทด้วย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินภายในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตามประกาศพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 อันเป็นที่หลวงหรือไม่ เห็นว่า ประกาศพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามเอกสารหมาย ล.1 ที่มีข้อความว่า “ประกาศขนานนามเปลี่ยนนามตำบลบางกรา แขวงจังหวัดเพชรบุรี มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่า ในที่หลวงซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นใหม่ตำบลบางกรา แขวงจังหวัดเพชรบุรี นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขนานนามพระราชทานว่า”มฤคทายวัน”นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศพระบรมราชโองการตามเอกสารหมาย ล.1 มีความหมายสองนัย คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขนานนามบางกราเปลี่ยนเป็นมฤคทายวันและโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างที่หลวงขึ้นใหม่ ส่วนประกาศพระบรมราชโองการตามเอกสารหมาย ล.2 ที่มีข้อความว่า “ประกาศเขตราชนิเวศน์มฤคทายวัน และห้ามไม่ให้ทำอันตรายแก่สัตว์ มีพระบรมราชโองการ ดำรัสเหนือเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ที่ตำบลมฤคทายวันซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างราชนิเวศน์เป็นที่ประทับขึ้นแล้วนั้น มีเขตด้านตะวันออกชายฝั่งทะเลตั้งแต่วัดบางควายจดบ้านบ่อเคี่ยะยาว 125 เส้นด้านเหนือจากฝั่งทะเลยื่นขึ้นไปถึงเขาเสวยกะปิยาว 190 เส้นด้านใต้ยื่นจากชายทะเลขึ้นไปถึงเขาสามพระยายาว 175 เส้น ด้านตะวันตกตั้งแต่เขาเสวยกะปิถึงเขาสามพระยายาว 125 เส้น ภายในเขตที่เป็นราชนิเวศน์นี้พระราชทานอภัยทานแก่สัตว์ที่ชนมักใช้เป็นภักษาหาร ทั้งจัตตุบททวิบาท ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ จึงประกาศห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีน้ำจิตร์เป็นสัมมาทิษฐิกระทำร้ายแก่สัตว์นั้น ๆ ด้วยประการใด ๆ ในเขตที่กำหนดมาแล้ว”นั้นเป็นประกาศพระบรมราชโองการที่มีพระราชประสงค์สืบเนื่องจากประกาศพระบรมราชโองการตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งโปรดเกล้าฯ เพียงให้สร้างที่หลวงขึ้นใหม่โดยยังมิได้กำหนดอาณาเขต จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตามเอกสารหมาย ล.2 กำหนดเขตที่หลวงที่ได้จัดสร้างขึ้นใหม่ให้แน่ชัด และได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเขตอภัยทานแก่สัตว์ด้วย สถานที่ที่ได้กำหนดตามประกาศพระราชโองการตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ดังกล่าว จึงเป็นสถานที่เดียวกัน มิใช่ต่างสถานที่กันดังที่โจทก์ฎีกา ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่หลวงหาใช่เป็นที่ดินที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเขตอภัยทานแก่สัตว์แต่อย่างเดียวไม่ ที่โจทก์ฎีกาต่อสู้ว่าทางราชการได้รับแจ้งการครอบครองที่ดินของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 แสดงว่ารัฐได้สละการครอบครองแล้วนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะได้แจ้งการครอบครองแล้วก็ตามแต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่หลวงซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เช่นนี้ โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยได้
พิพากษายืน