แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 และมาตรา 302 บัญญัติกำหนดให้อำนาจเกี่ยวกับการบังคับคดีเป็นของศาล ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 1 (14) บัญญัติว่า “เจ้าพนักงานบังคับคดี หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปฏิบัติการแทน” เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายใหม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์นั้นไม่ถูกต้อง เพราะผู้คัดค้านไม่ใช่คู่ความในคดี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสามชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคาที่ต่ำไป ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด
เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำชี้แจงว่า ได้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปโดยชอบ ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายใหม่ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีและจำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 และมาตรา 302 บัญญัติกำหนดให้อำนาจเกี่ยวกับการบังคับคดีเป็นของศาล ส่วนเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (14) บัญญัติว่า “เจ้าพนักงานบังคับคดี หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปฏิบัติแทน” เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องปฏิบัติในการที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลเท่านั้น ไม่มีอำนาจเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นคู่ความได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายใหม่ ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์นั้นไม่ถูกต้อง เพราะผู้คัดค้านไม่ใช่คู่ความในคดี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เฉพาะที่ให้ผู้คัดค้าน (เจ้าพนักงานบังคับคดี) ใช่ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ และยกฎีกาของผู้คัดค้าน