คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4474/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสามร่วมกันทำไม้ยาง โดยใช้เลื่อยโซ่รถยนต์ภายในบริเวณป่าทะเลน้อย ซึ่งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ร่วมกันมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง ร่วมกันแปรรูปไม้ยางและร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 6, 7, 11, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 42, 54, 63 ป.อ. มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 11, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง, 73 วรรคสอง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ มาตรา 42 วรรคสอง, 54 วรรคหนึ่ง ป.อ. มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาตในเขตสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูป โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวง จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 8 ปี
จากคำพิพากษาศาลชั้นต้นปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมิได้ระบุความผิดฐานร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและกำหนดโทษไว้ในคำพิพากษา คงระบุไว้เพียง 3 ฐานความผิด แต่รวมโทษจำคุกเป็นคนละ 8 ปี ซึ่งน่าจะเป็นความผิดหลงหรือความพลั้งเผลอของศาลชั้นต้นที่มิได้ระบุความผิดฐานดังกล่าวเอาไว้ในคำพิพากษา ทั้งโจทก์และจำเลยก็มิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ จำเลยทั้งสามคงอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษเท่านั้น และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็มิได้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหานี้ เพียงแต่เติมข้อความไว้ในวงเล็บต่อท้ายความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้ยางจำคุกคนละ 2 ปี ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า “ที่ถูกฐานร่วมกันมีไม้ยางแปรรูป จำคุกคนละ 2 ปี ด้วย” ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงข้อความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทฐานความผิดให้ตรงตามคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสามตามฟ้องและถูกต้องตรงตามโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นวางไว้ก่อนที่จะลดโทษให้แก่จำเลยทั้งสาม โดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสามให้สูงขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้ามศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้แก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยทั้งสามลดลงจากโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามอีกด้วย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212 และไม่เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 215

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสามร่วมกันทำไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยใช้เครื่องเลื่อยยนต์ (ที่ถูกเป็น เลื่อยโซ่ยนต์) เลื่อยออกเป็นท่อนเหลี่ยมและแผ่นจำนวน 2 ท่อน 1 ซีก กับ 12 ชิ้น ภายในบริเวณป่าทะเลน้อยซึ่งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. อันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองจำนวน 2 ท่อน ซึ่งไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายประทับ โดยจำเลยทั้งสามพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสามร่วมกันแปรรูปไม้ยางดังกล่าวข้างต้น รวม 2 ชิ้น กับ 1 ซีก ปริมาตรรวม 2.50 ลูกบาศก์เมตร โดยใช้เลื่อยยนต์ 2 เครื่อง ขวาน 1 เล่ม ประแจ 6 ตัว ไขควง 4 ตัว โช่เลื่อยยนต์ 2 เส้น และตลับเมตร 1 อัน ทำการเลื่อยเจาะเซาะไม้ยางดังกล่าวออกเป็นท่อน เหลี่ยมหรือแผ่นอันเป็นการทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิม และจำเลยทั้งสามร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปจำนวน 12 ชิ้น กับ 1 ซีก ปริมาตรรวม 2.50 ลูกบาศก์เมตร ดังกล่าวข้างต้นไว้ในความครอบครองของจำเลยทั้งสามซึ่งเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมกับยึดเครื่องเลื่อยยนต์ 2 เครื่อง ขวาน 1 เล่ม ประแจ 6 ตัว ไขควง 4 ตัว โซ่เลื่อยยนต์ 2 เส้น ตลับเมตร 1 อัน ไม้ยางที่ยังมิได้แปรรูป 2 ท่อน และไม้ยางที่ได้แปรรูปแล้วจำนวน 12 ชิ้น กับ 1 ซีก อันเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเลยทั้งสามใช้ในการกระทำความผิดและเป็นทรัพย์ที่มีไว้เนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง และต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2548 จำเลยที่ 3 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42, 54, 63 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง, 73 วรรคสอง พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42 วรรคสอง, 54 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้ยางในเขตสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้ยางมิได้แปรรูป จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้ยาง จำคุกคนละ 2 ปี (ที่ถูก ฐานร่วมกันมีไม้ยางแปรรูป จำคุกคนละ 2 ปี ด้วย) รวมจำคุกคนละ 8 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำคุกจำเลยทั้งสามกระทงละคนละ 1 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุกคนละ 4 ปี เมื่อลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามในข้อหาร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต และโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เฉพาะข้อหามีไม้ยางแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงถึงที่สุด ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะยกขึ้นมาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไม่ได้ คงจำคุกได้เฉพาะฐานร่วมกันทำไม้ยางในเขตสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฐานร่วมกันมีไม้ยางมิได้แปรรูป และฐานร่วมกันแปรรูปไม้ยาง จำคุกคนละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุกคนละ 3 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน มิใช่จำคุกจำเลยทั้งสามกระทงละคนละ 1 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 4 ปี นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสามร่วมกันทำไม้ยาง อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ภายในบริเวณป่าทะเลน้อยซึ่งเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ร่วมกันมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง ร่วมกันแปรรูปไม้ยางและร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 6, 7, 11, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42, 54, 63 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง, 73 วรรคสอง พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 42 วรรคสอง, 54 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาตในเขตสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า อันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้ยางอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวง จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้ยางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 8 ปี จากคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวปรากฏว่าศาลชั้นต้นมิได้ระบุความผิดฐานร่วมกันมีไม้ยางแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและกำหนดโทษไว้ในคำพิพากษา คงระบุไว้เพียง 3 ฐานความผิด แต่รวมโทษจำคุกเป็นคนละ 8 ปี ซึ่งน่าจะเป็นความผิดหลงหรือความพลั้งเผลอของศาลชั้นต้นที่มิได้ระบุความผิดฐานดังกล่าวเอาไว้ในคำพิพากษา ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสามก็มิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ จำเลยทั้งสามคงอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษเท่านั้น และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็มิได้แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหานี้ เพียงแต่เติมข้อความไว้ในวงเล็บต่อท้ายความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้ยาง จำคุกคนละ 2 ปี ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า “ที่ถูก ฐานร่วมกันมีไม้ยางแปรรูป จำคุกคนละ 2 ปี ด้วย” ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงข้อความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทฐานความผิดให้ตรงตามคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสามตามฟ้องและถูกต้องตรงตามโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นวางไว้ก่อนที่จะลดโทษให้แก่จำเลยทั้งสาม โดยศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสามให้สูงขึ้นแต่อย่างใด ตรงกันข้ามศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้แก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยทั้งสามลดลงจากโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามอีกด้วย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 และไม่เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 215 ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาขอให้รอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสามนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เลื่อยโซ่ยนต์ 2 เครื่อง ในการทำไม้ยางอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในเขตสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่านับว่าเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าของประเทศชาติ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามถือเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยทั้งสามจะไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัว ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่รอการลงโทษให้นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share