คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2625/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อที่กำหนดว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันผู้เช่าซื้อไม่สามารถคืนทรัพย์สินได้ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ผู้เช่าซื้อยินยอมรับผิดชอบใช้ราคาค่าแห่งทรัพย์สินจนเต็มจำนวนเงินที่ค้างชำระทั้งสิ้นนั้น เป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า หากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลก็ชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 และข้อสัญญานี้มิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งกำหนดไว้ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อหรือเงินอื่นใดที่ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชำระตามสัญญา โจทก์คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์สีจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หรือชดใช้ราคา11,274 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมองเครื่องรับโทรทัศน์สีตามสัญญาเช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่สามารถคืนได้ให้ร่วมกันใช้ราคาจำนวน 11,274 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบโทรทัศน์สีตามฟ้องให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 9,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คดีนี้โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์จากโจทก์แล้วผิดนัดโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วตามฟ้อง คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์ฎีกาว่า ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 กำหนดไว้ว่า เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วหากไม่สามารถคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้โจทก์ได้จำเลยยอมรับผิดชอบใช้ราคาค่าแห่งทรัพย์สินจนเต็มจำนวนเงินที่คงค้างชำระทั้งสิ้น เป็นการตกลงกำหนดราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยไม่สามารถคืนทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้ มิใช่เป็นวิธีกำหนดและชดใช้ค่าเสียหายล่วงหน้าที่ศาลจะมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดหย่อนเองได้ จำเลยต้องใช้เงิน11,274 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนห่าจะชำระเสร็จนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 6 มีใจความว่าเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วผู้เช่าซื้อไม่สามารถคืนทรัพย์สินได้ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ผู้เช่าซื้อยินยอมรับผิดชอบใช้ราคาค่าแห่งทรัพย์สินจนเต็มจำนวนเงินที่คงค้างชำระทั้งสิ้น ข้อตกลงในสัญญามีอยู่ดังนี้ โจทก์จำเลยย่อมต้องผูกพันตามสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์ให้ใช้ราคาทรัพย์สินแทนเป็นเงิน 9,500 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะถือได้หรือไม่ว่าจำเลยใช้ราคาแห่งทรัพย์สินจนเต็มจำนวนที่ค้างชำระแล้ว หากถือว่าเงินค่างวดที่ยังค้างชำระรวมทั้งสิ้น 11,274 บาท เป็นค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ ศาลก็มีอำนาจลดเงินจำนวนนี้ลงได้ แต่ถ้าถือว่าเงินจำนวน11,274 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องชดใช้ให้โจทก์ กรณีไม่สามารถคืนเครื่องรับโทรทัศน์ได้ ไม่ใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าและมิใช่เบี้ยปรับ ศาลก็ไม่มีอำนาจที่จะลดหย่อนราคาลงได้ เห็นว่า ข้อกำหนดในสัญญาข้อ 6 นั้น เป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า หากกำหนดไว้สูงเกินส่วนแล้ว ศาลก็ชอบที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลดค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับลงเหลือ 9,500 บาท จึงเป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์ฎีกาขอมาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้นเห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามสัญญาข้อ 3 ซึ่งกำหนดไว้ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อหรือไม่ชำระเงินอื่นใดที่ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชำระตามสัญญา และในเรื่องการใช้ราคาทรัพย์สินนี้สัญญามิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามกฎหมายเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองคิดดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน’
พิพากษายืน.

Share