แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เบี้ยปรับนั้นเป็นข้อกำหนดในสัญญาที่ลูกหนี้ตกลงไว้ล่วงหน้ายอมชดใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่เจ้าหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญา
ตามสัญญากู้ฉบับพิพาทกำหนดว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารเป็นรายเดือนดังนี้ ปีแรกอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12.95 ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไป แบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FLOATING RATE) ในอัตราร้อยละ HLR – 0.5 ต่อปี (ซึ่งณ วันทำสัญญาอัตราดอกเบี้ย HLR = 14.0 ต่อปี) แต่หากธนาคารจะขึ้นหรือปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามความเหมาะสมโดยไม่เกินกว่ากฎหมายอนุญาตให้คิดได้ ผู้กู้ตกลงให้ธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราใหม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ โดยให้ถือว่า ผู้กู้ได้ทราบและให้ความยินยอมต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยไม่โต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น และตามสัญญาจำนองที่ดินฉบับพิพาทก็กำหนดให้สิทธิโจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ในทำนองเดียวกันนั้น อันเป็นกรณีที่จำเลยให้สิทธิแก่โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ในวันทำสัญญาให้สูงขึ้นอีกได้ ไม่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดหรือผิดสัญญาหรือไม่ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ.มาตรา 379 ศาลจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383
จำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ให้โจทก์ทุกเดือนตามสัญญาเรื่อยมาโดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 แล้วก็ผิดนัด จนโจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองให้จำเลยดำเนินการชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 5 ตุลาคม 2540 และหนังสือดังกล่าวไปถึงจำเลยแล้วเมื่อวันที่ 18กันยายน 2540 สัญญากู้จึงเป็นอันสิ้นสุดแล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยคงมีอยู่ก่อนวันที่สัญญากู้สิ้นสุดเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าก่อนวันดังกล่าวโจทก์มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นไม่เกินอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามประกาศเรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อ มิใช่ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2540 ตามอัตราที่โจทก์คิดคำนวณเอาโดยอาศัยตามประกาศ เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้สินเชื่อ ซึ่งเป็นประกาศของโจทก์หลังจากที่สัญญากู้ได้สิ้นสุดไปแล้ว ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้