แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกำหนดความผิดและมาตรการการลงโทษไว้ ซึ่งประกอบด้วยโทษสถานเบาสถานปานกลาง สถานหนักและโทษทางวินัย ส่วนกรณีความผิดอื่นที่ไม่ระบุในข้อบังคับให้ทำการพิจารณาโดยหัวหน้างานหรือฝ่ายจัดการเพื่อเปรียบเทียบการลงโทษ ลูกจ้างชกต่อยผู้บังคับบัญชาในขณะกำลังเปลี่ยนกะพนักงานต่อหน้าพนักงานอื่นจำนวนมาก ด้วยสาเหตุเนื่องมาจากการทำงาน ถือว่าเป็นความผิดกรณีร้ายแรงเปรียบเทียบได้กับโทษทางวินัย คือ เจตนากระทำผิดอาญาต่อนายจ้าง ซึ่งมีโทษให้ออกโดยไม่จ่ายเงินชดเชย และถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรงนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์เมาสุราแล้วทำร้ายร่างกายผู้บังคับบัญชาต่อหน้าพนักงานของจำเลยเป็นจำนวนมากเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับฯ เอกสารหมาย ล.4 เป็นกรณีที่ร้ายแรง ความผิดเป็นกรณีที่ร้ายแรงอยู่ในข้อ 9.4 มิใช่ข้อ 9.5ข้อ 9.5 ไม่ใช่ความผิดเป็นกรณีที่ร้ายแรง ทั้งยังกำหนดไว้อย่างเคลือบคลุมเป็นการกำหนดไว้ลอย ๆ ไม่สมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายไม่เป็นธรรม การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยตามคำฟ้อง พิเคราะห์แล้วระเบียบข้อบังคับฯ เอกสารหมาย ล.4 กำหนดความผิดและการลงโทษไว้เป็น 3 สถานคือ ข้อ 9.1 โทษสถานเบา ข้อ 9.2 ความผิดสถานปานกลางทั้งข้อ 9.1 และข้อ 9.2 ต่างมีมาตรการการลงโทษแยกไว้ต่างหากจากกัน และข้อ 9.3 โทษสถานหนักซึ่งมีอยู่ตามข้อ 9.3.1 ถึงข้อ 9.3.9และมีมาตรการ การลงโทษ 2 ประการคือ กระทำผิดครั้งที่ 1 ให้พักงานหรือตัดค่าแรง กระทำผิดครั้งที่ 2 ให้ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยสำหรับข้อ 9.4 นั้น แท้จริงหาได้อยู่ในความผิดสถานเบา สถานปานกลางหรือสถานหนักประการใดไม่ แต่เป็น “โทษทางวินัย” อันกำหนดขึ้นต่างหากจากข้อ 9.1 ข้อ 9.2 และข้อ 9.3 ข้อ 9.4 มีความว่า
“9.4 โทษทางวินัย
9.4.1 พยายามสืบรู้การผลิต การค้า หรือธุรกิจของบริษัทฯ และรับประโยชน์จากการนี้เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น
9.4.2 เจตนากระทำความผิดอาญาต่อนายจ้างหรือบริษัทฯ
9.4.3 กระทำให้บริษัทได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยการปล่อยข่าวลือไปในทางเสีย
9.4.4 ประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้บริษัทฯ หรือนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างหนัก
9.4.5 ขาดงานติดต่อกัน 3 วันทำงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
9.4.6 ถูกศาลตัดสินจำคุก
มาตรการการลงโทษ กระทำผิดครั้งที่ 1 ให้ออกโดยไม่จ่ายเงินชดเชย”
สำหรับข้อ 9.5 ที่ศาลแรงงานกลางปรับความผิดแก่โจทก์นั้นมีความว่า
“9.5 การเปรียบเทียบลักษณะความผิด
ความผิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อบังคับนี้ ให้ทำการพิจารณาโทษโดยหัวหน้างาน หรือฝ่ายจัดการเพื่อเปรียบเทียบการลงโทษโดยยุติธรรม พนักงานจะปฏิเสธการตัดสินของหัวหน้างาน หรือฝ่ายจัดการไม่ได้”
ตามระเบียบข้อบังคับ เอกสารหมาย ล.4 ที่ศาลฎีกายกขึ้นกล่าวข้างต้น เห็นได้ว่าการกระทำของโจทก์หาได้เข้าเกณฑ์ที่ระบุไว้เป็นความผิดสถานเบาตามข้อ 9.1 ความผิดสถานปานกลางข้อ 9.2โทษสถานหนักข้อ 9.3 และโทษทางวินัยข้อ 9.4 ไม่ การกระทำของโจทก์จึงเข้าลักษณะความผิดอื่น ๆ ตามข้อ 9.5 ที่ให้ฝ่ายนายจ้างมีอำนาจเปรียบเทียบการลงโทษได้ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ชกต่อยนายยุทธ คันธวงศ์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ ในขณะที่กำลังเปลี่ยนกะพนักงานต่อหน้าพนักงานของจำเลยจำนวนมาก ด้วยสาเหตุเนื่องจากการทำงานนั้นนอกจากจะเป็นการกระทำผิดอาญาซึ่งมีโทษตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ได้ชื่อว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยมีลักษณะเป็นพาล ก้าวร้าวไม่ให้เกียรติผู้บังคับบัญชาและเป็นผลมาจากการไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัยของสถานที่ทำงานไม่เคารพยำเกรงผู้บังคับบัญชาผู้ซึ่งได้ปฏิบัติการตามหน้าที่อันเป็นการกระด้างกระเดื่องต่อการบังคับบัญชา ย่อมทำให้จำเลยเสียหายด้านการปกครอง จึงเป็นความผิดกรณีร้ายแรง เปรียบเทียบได้กับโทษทางวินัยข้อ 9.4.2 ที่ว่า เจตนากระทำผิดอาญาต่อนายจ้างหรือบริษัทฯ ซึ่งมีมาตรการการลงโทษกระทำผิดครั้งที่ 1 ให้ออกโดยไม่จ่ายเงินชดเชย และถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) ด้วยจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน