คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1957/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช2474 บัญญัติไว้ตอนต้นว่า ‘ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้’ ซึ่งรับกับมาตรา 41 (1) ที่ให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ หากผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องและแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ ฉะนั้นเมื่อจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทที่แท้จริงและได้ส่งสินค้าซึ่งมีเครื่องหมายการค้าพิพาทเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเวลานาน ก่อนที่โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทดังกล่าว แม้จำเลยจะยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยจำเลยก็มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์ได้ตามมาตรา 41 (1)
การที่โนตารีปับลิกรับรองการมีอยู่ของหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยในประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องรับรองความถูกต้องไว้แล้วนั้น เทียบเคียงได้กับกรณีการเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจที่ได้ทำในเมืองต่างประเทศตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 47 วรรคสาม คือไม่จำต้องมีเจ้าพนักงานสถานกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยรับรองอีกชั้นว่าผู้รับรองเอกสารดังกล่าวเป็นโนตารีปับลิกจริง ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของบุคคลที่ลงลายมือชื่อรับรองในฐานะโนตารีปับลิกดังกล่าว ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบหักล้างหรือโต้แย้งอย่างใดแล้วศาลก็รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทนั้นได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า THORN ซึ่งใช้กับเครื่องไฟฟ้าทั้งที่ทำด้วยโลหะและพลาสติก และได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าของโจทก์จนเป็นที่แพร่หลายมาประมาณ ๑๐ ปี โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก ๕๐ ตามคำขอที่ ๑๐๗๐๖๘ และได้รับจดทะเบียนแล้วตามทะเบียนเลขที่ ๖๗๘๐๕ ต่อมาโจทก์นำทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ไปขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก๑๓ ตามคำขอที่ ๑๒๙๑๑๐ แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนให้โดยอ้างว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๒๑๙๕๖ ของจำเลยนี้ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ก่อนสำหรับสินค้าจำพวก ๑๓ เช่นเดียวกัน จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้โดยไม่สุจริตและเป็นเวลาภายหลังที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้านี้ในประเทศไทยแพร่หลายขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า THORN ดีกว่าจำเลยในสินค้าจำพวก ๑๓ ห้ามมิให้จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ตามคำขอที่ ๑๒๑๙๕๖ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยคิดประดิษฐ์และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า THORN ไว้แล้วในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศสำหรับสินค้าหลอดไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและโคมไฟฟ้าที่ทำด้วยโลหะและพลาสติก จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าดังกล่าวของจำเลยในประเทศไทยโดยสุจริตมานานเกือบ ๒๐ ปีจนเป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างแพร่หลาย นอกจากคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอที่ ๑๒๑๙๕๖ สำหรับสินค้าจำพวก ๑๓ ที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนให้โดยให้เหตุผลว่าเหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ตามคำขอที่๑๒๙๑๑๐ แล้วจำเลยได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้สำหรับสินค้าจำพวก ๕๐ ตามคำขอที่ ๑๑๙๒๒๔ ด้วย แต่นายทะเบียนปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนให้เช่นกันโดยให้เหตุผลว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนไว้แล้วตามคำขอที่๑๐๗๐๖๘ และเลขทะเบียนที่ ๖๗๘๐๕ ทั้งจำเลยยังพบว่าโจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้กับรูปประดิษฐ์อีก ๒ คำขอคือคำขอที่ ๑๐๗๐๖๗ สำหรับสินค้าจำพวก ๑๓ และคำขอที่ ๑๒๙๐๙๗ สำหรับสินค้าจำพวกอื่นอีกด้วย การที่โจทก์นำเครื่องหมายการค้าของจำเลยไปใช้กับสินค้าอย่างเดียวกับสินค้าของจำเลย เป็นการลวงขายให้ประชาชนหลงผิดว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าของจำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘THORN’ ดีกว่าโจทก์ ขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอที่ ๑๐๗๐๖๘ ทะเบียนเลขที่ ๖๗๘๐๕ และให้โจทก์เพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ ๑๒๙๑๑๐, ๑๐๗๐๖๗และ ๑๒๙๐๙๗ หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ห้ามโจทก์ใช้หรือยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘THORN’ อีก
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์เป็นเจ้าของและใช้เครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า ‘THORN’ รวมอยู่ในเครื่องหมายของโจทก์โดยสุจริตมิได้ลวงขายสินค้าให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้าของจำเลย สินค้าของจำเลยหากมีจำหน่ายในประเทศไทยก็ไม่เป็นที่รู้จักหรือนิยมแพร่หลาย จำเลยนำคำว่า ‘THORN’ อันเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามกฎหมายไทยเป็นการแย่งชิงและใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกคำขอ จำเลยไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเพราะคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอที่ ๑๐๗๐๖๘ ทะเบียนเลขที่ ๖๗๘๐๕ กับคำขอที่๑๐๗๐๖๗ และ ๑๒๙๐๙๗ เป็นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอที่ ๑๒๙๑๑๐และ ๑๒๑๙๕๖ ตามคำฟ้องเดิมอีกทั้งจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยไว้ แต่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อนแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า’THORN’ ดีกว่าโจทก์ ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ๖๗๘๐๕ และให้โจทก์ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ ๑๒๙๑๑๐, ๑๐๗๐๖๗, ๑๒๙๑๑๐ หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนคำขออื่นของจำเลยให้ยก และให้ยกฟ้องของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่าตามมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าได้ต่อเมื่อผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องและแสดงได้ว่าผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ แต่กรณีของจำเลยจำเลยทำเป็นฟ้องแย้งจึงไม่ต้องด้วยมาตรา ๔๑ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าปัญหาข้อนี้โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในชั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เพราะในชั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและอุทธรณ์เพียงว่าที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้เพิกถอนนั้น เป็นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคนละเรื่องกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ๑๒๙๑๑๐, ๑๒๑๙๕๖ ตามคำฟ้องเดิม และจำเลยก็ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยไว้ โจทก์ไม่เคยยกขึ้นกล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้อง ศาลจึงสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้ ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๙ โจทก์ฎีกาประการที่สองว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยมีคำว่า ‘THORN’ เป็นภาษาอังกฤษระคนปนอยู่ในรูปแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วตามเอกสารหมาย จ.๑ จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น โจทก์เป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าในจำพวกที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ตามความในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า ฯ มาตรา ๒๗เห็นว่าบทบัญญัติมาตรา ๒๗ ก็บัญญัติไว้ตอนต้นว่า ‘ภายในบังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้……..’ ซึ่งรับกับมาตรา ๔๑ ที่บัญญัติว่า ‘ทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนได้เมื่อผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องและแสดงได้ว่า(๑) ผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของหรือ (๒) ฯลฯ’ ดังนั้นแม้โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนไว้แล้วก็ตาม เมื่อพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ชัดว่าจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า ‘THORN’มาก่อนโจทก์เป็นเวลานานมาก ทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๑๓นอกจากนี้จำเลยยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในประเทศต่าง ๆ ประมาณ ๓๕ ประเทศ เช่นประเทศฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตกสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และได้ส่งสินค้าซึ่งมีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.๑ เป็นเวลานานจำเลยจึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย เช่นนี้จำเลยย่อมมีอำนาจที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ โจทก์ฎีกาประการต่อไปว่า จำเลยอ้างว่าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘THORN’ ไว้ยังเมืองต่างประเทศตามเอกสารหมาย ล.๑๓ เอกสารดังกล่าวไม่มีการรับรองโดยเจ้าพนักงานในสถานกงสุลไทยหรือเจ้าพนักงานในสถานฑูตไทยว่าผู้ที่ลงชื่อรับรองในเอกสารหมายล.๑๓ นั้นเป็นเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกจริงเอกสารหมาย ล.๑๓ จึงรับฟังไม่ได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยในประเทศต่าง ๆ ตามเอกสารหมาย ล.๑๓ล้วนแต่มีนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ทั้งสิ้น ส่วนการที่โนตารีปับลิกลงลายมือชื่อรับรองการมีอยู่ของเอกสารหมาย ล.๑๓ นั้น กรณีเทียบเคียงได้กับการเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจที่ได้ทำในเมืองต่างประเทศตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๔๗ วรรคสามกล่าวคือ ถ้าเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกเป็นพยานในการมอบอำนาจแล้วก็ไม่จำต้องมีเจ้าพนักงานในสถานกงสุลไทยหรือเจ้าพนักงานในสถานทูตไทยรับรองมาอีกชั้นหนึ่งว่า ผู้ที่ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารเป็นเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกจริง ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของบุคคลที่ลงลายมือชื่อรับรองในฐานะโนตารีปับลิกดังกล่าว ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบโต้แย้งหรือหักล้างอย่างใดแล้ว ศาลก็รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามเอกสารหมาย ล.๑๓ ได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า ‘THORN’ ดีกว่าโจทก์ ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share