คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ผลิตขาจักรเย็บผ้าที่ใช้เท้าถีบเป็นชุดซึ่งประกอบด้วยแผงข้าง 2 แผง วงล้อสำหรับใส่สายพาน ที่วางเท้าสำหรับถีบและที่กำบังสายพานและขายให้ตามคำสั่งซื้อของพ่อค้าที่สั่งหัวจักรมาจากต่างประเทศเท่านั้น แล้วพ่อค้าที่ซื้อขาจักรเย็บผ้าจากโจทก์ได้นำไปประกอบกับหัวจักรที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศให้เป็นจักรเย็บที่ใช้การได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แยกขาจักรเย็บผ้าที่โจทก์ผลิตออกขายเป็นชิ้น ๆ ดังนั้น ขาจักรเย็บผ้าที่ใช้เท้าถีบที่โจทก์ผลิตเป็นชุดดังกล่าวจึงไม่อยู่ในลักษณะสิ่งของที่มีไว้ ตระเตรีมไว้เพื่อใช้แทนสิ่งของที่ชำรุดเสียหายหรือเมื่อเวลาจำเป็น จึงมิใช่อะไหล่ของจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบ ไม่เข้าลักษณะเป็นสินค้าตามหมวด 8(5) ของบัญชี 1ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่44) พ.ศ.2517 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยแจ้งว่าโจทก์มีรายรับจากการขายอุปกรณ์จักรเย็บผ้าที่โจทก์ผลิตจำหน่ายต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 แต่โจทก์เสียภาษีไว้ในอัตราร้อยละ2 จึงทำการประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าที่ชำระขาดไว้และเรียกเก็บเงินเพิ่มเบี้ยปรับ ภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงิน 877,040.68บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยว่าการประเมินถูกต้องตามกฎหมายแล้วแต่มีเหตุอันควรผ่อนผันจึงลดเบี้ยปรับลงเหลือร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายและลดภาษีบำรุงเทศบาลให้ตามส่วน คงให้โจทก์ชำระภาษีรวม 696,233.47 บาท ซึ่งโจทก์ไม่เป็นฟ้องด้วยเพราะขาจักรเย็บผ้าไม่ใช่อุปกรณ์จักรเย็บผ้า เป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าและไม่ใช่อะไหล่ของจักรเย็บผ้าซึ่งจะต้องเสียภาษีการค้า ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หากโจทก์ต้องเสียภาษีการค้าดังกล่าว ก็ขอให้งดหรือลดเงินเพิ่มเบี้ยปรับ และภาษีบำรุงเทศบาลแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การว่า ขาจักรเย็บผ้าเป็นอะไหล่ของจักรเย็บผ้าชนิดใช้เท้าถีบ สามารถนำไปใช้กับจักรเย็บผ่าได้ทุกชื่อการค้าและเครื่องหมายการค้า จึงเข้าลักษณะเป็นสินค้าตามหมวด 8(5) ของบัญชีที่ 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลกฎหมายรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยชำระค่าทนายความชั้นอุทธรณ์5,000 บาท แทนโจทก์ด้วย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่าขาจักรเย็บผ้าที่โจทก์ผลิตจำหน่ายเป็นอะไหล่ของจักรเย็บผ้าหรือไม่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ผลิตขาจักรเย็บผ้าที่ใช้เท้าถีบออกขายเป็นชุดประกอบด้วย แผงข้าง 2 แผง วงล้อสำหรับใส่สายพานที่วางเท้าสำหรับถีบ และที่กำบังสายพานตามรูปถ่ายเอกสารหมาย ล.4 โจทก์จะผลิตขาจักรเย็บผ้าดังกล่าวขายเป็นชุดให้เฉพาะพ่อค้าที่สั่งซื้อหัวจักรเข้ามาจากต่างประเทศและจะผลิตขายให้เท่าที่สั่งซื้อ ไม่ได้ผลิตสำรองเก็บไว้ขายทั้งไม่มีวางขายตามท้องตลาดทั่วไป และไม่ได้แยกขายเป็นชิ้น ๆ ขาจักรเย็บผ้าที่โจทก์ผลิต จึงไม่ใช่อะไหล่ของจักรเย็บผ้า แต่เป็นที่วางจักรเพื่อความสะดวกในการเย็บผ้า จำเลยนำสืบว่า ขาจักรเย็บผ้าที่โจทก์ผลิตตามรูปถ่ายเอกสารหมาย ล.4 เป็นส่วนหนึ่งของจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบถ้าไม่มีขาจักรดังกล่าว จักรเย็บผ้าก็ทำงานไม่ได้ ขาจักรเย็บผ้าที่โจทก์ผลิตดังกล่าวนำไปใช้ทดแทนขาจักรเย็บผ้าที่ใช้เท้าถีบเดิมที่ชำรุดเสียหายได้ และมีขายอยู่ตามร้านขายจักรทั่วไป จึงเป็นอะไหล่ของจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำว่า อะไหล่ตามประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติความหมายไว้ว่าอย่างไร จึงต้องถือตามความหมายที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไป ซึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525ให้ความหมายไว้ว่า “เครื่องสำรองแห่งสิ่งของเช่ารถ เป็นต้นเพื่อเตรียมไว้ใช้เมื่อเวลาจำเป็น” ตามความหมายดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่า สิ่งของที่มีไว้ ตระเตรียมไว้เพื่อใช้แทนสิ่งของที่ชำรุดเสียหายหรือเมื่อเวลาจำเป็น สิ่งของนั้นจึงจะเรียกว่าอะไหล่ แต่ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรักกันมาข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ผลิตขาจักรเย็บผ้าที่ใช้เท้าถีบเป็นชุดซึ่งประกอบด้วย แผงข้าง 2 แผงวงล้อสำหรับใส่สายพาน ที่วางเท้าสำหรับถีบ และที่กำบังสายพานตามรูปถ่ายเอกสารหมาย ล.4 นายเซียมเต็ก แซ่ลิ้ม หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์และนายโกมล ศิวะโกศิษฐ ผู้เป็นหุ้นส่วนและทำหน้าที่ด้านฝ่ายขายของโจทก์ก็เบิกความยืนยันว่า โจทก์ผลิตขาจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบขายให้ตามคำสั่งของพ่อค้าที่สั่งหัวจักรต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรเท่านั้น ไม่ได้ผลิตสำรองไว้ขายตามท้องตลาดทั่ว ๆ ไป และการขายก็ขายเป็นชุดไม่ได้แยกขายเป็นชิ้น ๆ ซึ่งโจทก์มีนางสุพินดา เดชวัฒนโยธิน เจ้าของร้านขายจักรเย็บผ้าชื่อร้านฮะหลีพาณิชย์ ที่ซื้อหัวจักรเย็บผ้ามาจากต่างประเทศ และสั่งซื้อขาจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบจากโจทก์ มาเบิกความสนับสนุนคำพยานโจทก์ดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นว่า ขาจักรเย็บผ้าที่โจทก์ผลิตออกมาจำหน่ายได้ประกอบกันเป็นชุดอย่างสมบูรณ์ในลักษณะของขาจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบ และขายให้ตามคำสั่งซื้อของพ่อค้าที่สั่งหัวจักรมาจากต่างประเทศเท่านั้น แล้วพ่อค้าที่ซื้อขาจักรเย็บผ้าจากโจทก์ได้นำไปประกอบกับหัวจักรที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศให้เป็นจักรเย็บผ้าที่ใช้การได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้แยกขาจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบที่โจทก์ผลิตขายออกเป็นชิ้น ๆ ดังนั้นขาจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบที่โจทก์ผลิตเป็นชุดดังกล่าวไม่อยู่ในลักษณะสิ่งของที่มีไว้ ตระเตรียมไว้เพื่อใช้แทนสิ่งของที่ชำรุดเสียหายหรือเมื่อเวลาจำเป็น จึงไม่ใช่อะไหล่ของจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบดังที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีความเห็นหรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า ขาจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบอย่างที่โจทก์ผลิตมีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปนั้น เห็นว่าจำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน เป็นเพียงแต่นายชมพริ้งพงษ์ และนางวิมล ปุณณะหิตานนท์ พยานจำเลยมาเบิกความกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย และที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ขาจักรเย็บผ้าที่โจทก์ผลิตเป็นส่วนหนึ่งของจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบ เมื่อของเดิมชำรุดเสียหายก็นำขาจักรเย็บผ้าที่โจทก์ผลิตมาใช้แทนได้ทันที จึงเข้าลักษณะเป็นอะไหล่ของจักรเย็บผ้านั้น เห็นว่า จริงอยู่แม้จักรเย็บผ้าจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนหนึ่งเป็นหัวจักรเย็บผ้า อีกส่วนหนึ่งเป็นขาจักรเย็บผ้าตามที่จำเลยนำสืบก็ตาม แต่แต่ละส่วนดังกล่าวก็มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง เป็นแต่ว่าเอามาประกอบกันเข้าให้จักรเย็บผ้าทำงานได้เท่านั้น ถ้าหากจะถือว่า ขาจักรเย็บผ้าทั้งชุดเป็นอะไหล่ของจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบ ก็อาจจะถือได้ว่าส่วนหัวจักรเย็บผ้าที่นำมาประกอบกับขาจักรเย็บผ้าเป็นอะไหล่ด้วย ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบยังไม่มีเหตุผลที่จะรับฟัง ที่พิพากษาวินิจฉัยว่าขาจักรเย็บผ้าใช้เท้าถีบที่โจทก์ผลิตไม่ใช่อะไหล่ของจักรเย็บผ้านั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 4,000 บาทแทนโจทก์.

Share