คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 168/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์เจ็บป่วยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตามปกติเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติมิใช่เกิดจากการกระทำของโจทก์ แม้ระเบียบของธนาคารจำเลยจะให้อำนาจจำเลยสั่งให้โจทก์ออกจากงาน หรือสัญญาของผู้เข้าทำงานซึ่งโจทก์ทำกับจำเลยให้อำนาจจำเลยที่จะถอนโจทก์ออกจากงานได้ก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อกำหนดให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้เท่านั้น ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือสัญญา จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
เงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม (บำนาญ) ซึ่งจำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นรายเดือนนั้น เป็นเงินที่มีวิธีการจ่ายและจำนวนเงินที่จ่ายแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 จึงเป็นเงินประเภทอื่น ไม่ใช่เป็นเงินประเภทเดียวกับค่าชดเชย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ได้ค่าจ้างอัตราเดือนละ 22,300 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ป่วยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์ทำงานติดต่อกันเกิน 3 ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างครั้งสุดท้าย 180 วัน โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยปฏิเสธ ขอให้บังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 133,920 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์และให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์เจ็บป่วยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ตามพระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489 มาตรา 16, 17 และระเบียบการธนาคารออมสิน ฉบับที่ 121 ข้อ 6.1 จำเลยได้จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม (บำนาญ) ซึ่งเป็นเงินประเภทเดียวกับค่าชดเชยแก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม (บำนาญ)ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทุกเดือนนั้นเป็นเงินประเภทอื่นที่จำเลยจ่ายให้กับลูกจ้าง ทั้งวิธีการจ่ายก็ต่างจากค่าชดเชยถือไม่ได้ว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 133,920 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘การที่โจทก์เจ็บป่วยทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตามปกตินั้น เป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติ มิใช่เกิดจากการกระทำของโจทก์ แม้ระเบียบการธนาคารออมสิน ฯ จะให้อำนาจจำเลยสั่งให้โจทก์ออกจากงาน หรือสัญญาของผู้เข้าทำงานธนาคารออมสินซึ่งโจทก์ทำกับจำเลยให้อำนาจจำเลยที่จะถอนโจทก์ออกจากงานได้ก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อกำหนดให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้เท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดว่าโจทก์กระทำผิดดังนั้นการที่โจทก์เจ็บป่วยดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับหรือสัญญา จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์ออกจากงาน จำเลยได้จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทหนึ่ง(บำนาญ) (ตามคำให้การเป็นเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม) ให้แก่โจทก์เดือนละ 16,516.80 บาท เงินจำนวนนี้ถือว่าเป็นเงินประเภทเดียวกับค่าชดเชย ฉะนั้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยจำเลยไม่เคยผิดนัดหรือผิดสัญญา โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยเงินค่าชดเชยแต่อย่างใดนั้น เห็นว่าเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสาม (บำนาญ) ซึ่งจำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นรายเดือน ๆ ละ 16,516.80 บาทนั้น เป็นเงินที่มีวิธีการจ่ายและจำนวนเงินที่จ่ายแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 46 จึงเป็นเงินประเภทอื่นถือไม่ได้ว่าเป็นเงินประเภทเดียวกับค่าชดเชย ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่เคยผิดนัดหรือผิดสัญญา โจทก์ไม่เคยทวงถาม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าดอกเบี้ยนั้นเห็นว่า ค่าชดเชยเป็นเงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวข้อ 46 บังคับให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทันทีที่เลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดโดยโจทก์ไม่จำต้องทวงถาม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 133,920 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share