แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการธนาคารสาขาของโจทก์ กระทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ ปล่อยให้จำเลยที่ 1 กู้โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันกู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงินที่ได้รับอนุญาตอันเป็นการขัดต่อระเบียบวิธีปฏิบัติของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทั้งโจทก์มิได้ให้สัตยาบันในการกระทำของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2ต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 จำเลยที่ 4ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 3 ในการเข้าทำงานกับโจทก์ก็ต้องร่วมรับผิดด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาท่าเรือ และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 3 ในการเข้าทำงานกับโจทก์ โจทก์มีคำสั่งให้ผู้จัดการสาขามีอำนาจให้สินเชื่อแก่ลูกค้าโดยให้กู้เงินและเบิกเงินเกินบัญชีได้ในวงเงินไม่เกิน50,000 บาท เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2526 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาทมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 3 ให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปเกินขอบอำนาจหลายครั้งครั้นครบกำหนดชำระเงินจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้แก่โจทก์ตามสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันและแทนกันชำระเงิน 593,788.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 3ให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีทุกครั้ง แต่โจทก์ไม่ได้ทักท้วงหรือโต้แย้งการกระทำของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์กระทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจโดยปล่อยให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงินที่ได้รับอนุญาตอันเป็นการขัดต่อระเบียบวิธีปฏิบัติของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทั้งโจทก์มิได้ให้สัตยาบันในการกระทำของจำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 และ จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดด้วย
พิพากษายืน