แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยขอกู้ยืมเงินผู้เสียหาย โดยจำเลยออกเช็คตามฟ้องทั้ง 2 ฉบับให้ผู้เสียหาย แล้วผู้เสียหายจึงเอาเงินเท่ากับจำนวนเงินตามเช็คทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมอบให้จำเลย แสดงให้เห็นว่า ก่อนจำเลยออกเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับให้ผู้เสียหายนั้นจำเลยกับผู้เสียหายมิได้มีหนี้ต่อกัน การออกเช็คของจำเลยจึงมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงให้ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ซึ่งแก้ไขแล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1)จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งแก้ไขแล้วจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 แต่ขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ซึ่งในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 และได้บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ว่า การออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คและการออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์มีว่า จำเลยมาขอกู้ยืมเงินผู้เสียหาย โดยจำเลยออกเช็คตามฟ้องทั้ง 2 ฉบับให้ผู้เสียหาย แล้วผู้เสียหายจึงเอาเงินเท่ากับจำนวนเงินตามเช็คทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมอบให้จำเลย แสดงให้เห็นว่าก่อนจำเลยออกเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับให้ผู้เสียหายนั้น จำเลยกับผู้เสียหายมิได้มีหนี้ต่อกัน การออกเช็คของจำเลยจึงมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงให้ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง จำเลยจึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน.