คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4517/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การสอบสวนจะไม่ชอบด้วยกำหนดเวลา ตัวคณะกรรมการหรือกรณีอื่นใดก็ตาม จะถือเป็นเหตุว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหาได้ไม่ จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างที่แท้จริงว่าได้มีได้เกิดขึ้นหรือไม่ และการกระทำนั้นเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและมีเหตุผลเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยกล่าวหาว่า กระทำการส่อไปทางทุจริตโดยไม่เป็นความจริงการสอบสวนโจทก์ไม่ชอบด้วยระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด ๒๕๒๒ โดยจำเลยไม่ได้มีคำสั่งและบอกกล่าวก่อนว่าจะสอบสวนเรื่องใด มีคณะกรรมการกี่คนจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ฯลฯ
จำเลยให้การว่า โจทก์เบียดบังเงินรายได้ค่าระวางของ ๘๐๐ บาท เป็นการทุจริตทำผิดระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การสอบสวนโจทก์ทั้งสองไม่แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน เป็นการผิดระเบียบพนักงานบริษัทขนส่ง จำกัด ๒๕๒๒ ข้อ ๙๒ ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และจำเลยมิได้สั่งให้ดำเนินการใหม่ตามข้อ ๙๑ การสอบสวนของจำเลยจึงไม่ชอบ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่อัตราค่าจ้างเดิมโดยให้นับอายุงานต่อเนื่องและใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างตั้งแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงาน คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีเป็นอันได้ความว่าการสอบสวนโจทก์ทั้งสองเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยระเบียบฯ เอกสารหมาย จ.๑ ข้อ ๙๒ เรื่องกำหนดเวลาการสอบสวน แต่เห็นว่าแม้การสอบสวนจะไม่ชอบด้วยกำหนดเวลาหรือไม่ชอบด้วยตัวคณะกรรมการ หรือไม่ว่าด้วยกรณีอื่นใดก็ตามจะถือเป็นเหตุว่าการเลิกจ้างนั้น ๆ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหาได้ไม่การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมจะต้องพิจารณาถึง “เหตุ” แห่งการเลิกจ้างที่แท้จริงว่าได้มีได้เกิดขึ้นหรือไม่ หากมี พึงพิจารณาต่อไปว่าการกระทำนั้น ๆ เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและมีเหตุผลเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ดังนี้ จึงจะสอดคล้องด้วยความเป็นธรรมบัดนี้ คดีมาสู่ศาลแล้ว และศาลก็ได้กำหนด “เหตุ” แห่งการเลิกจ้างที่แท้จริงเป็นประเด็นไว้แล้วตามประเด็นข้อ ๑ จึงสามควรจะได้วินิจฉัยเสียให้สิ้นกระแสความก่อนว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลยจริงหรือไม่ การที่จะพิพากษายกฟ้องไปเสียทีเดียวตามที่จำเลยอุทธรณ์โดยไม่ให้พิจารณาถึงประเด็นข้อ ๑ นั้นย่อมเป็นการไม่ชอบอีกเช่นกัน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีใหม่แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามรูปความ

Share