คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610-2611/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและซัดทอดในชั้นจับกุมว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดเป็นของจำเลยที่ 3 ฝากให้จำหน่ายนั้น เป็นการให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมทันทีในวันที่ถูกจับ จึงเป็นการยากที่จำเลยที่ 2 จะปรุงแต่งเรื่องขึ้นเพื่อต่อสู้หรือปรักปรำจำเลยที่ 3 และแม้จะถือได้ว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันก็ตาม แต่คำซัดทอดดังกล่าวก็มิได้เป็นเรื่องการปัดความผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวคงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 2 ได้ประสบมาจากการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 3 เมื่อนำมาพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์แล้ว ถือเป็นคำซัดทอดที่ชอบด้วยเหตุผลพอให้รับฟังว่าเป็นความจริงที่เกิดขึ้น
การที่จำเลยที่ 3 ฝากให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นการก่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม ป.อ. มาตรา 84 มิใช่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง แต่การกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม ป.อ. มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 3
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และจำเลยทั้งสามร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 63 เม็ด น้ำหนักรวม 6.080 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ดังกล่าวจำนวน 5 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 350 บาท เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าว ธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 2 ฉบับ ฉบับละ 20 บาท จำนวน 7 ฉบับและฉบับละ 10 บาท จำนวน 1 ฉบับ รวมเป็นเงิน 350 บาท ที่ใช้ล่อซื้อและถุงพลาสติก 1 ใบ ที่ใช้ใส่ยาเสพติดให้โทษเป็นของกลาง ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 3 ได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีน และถุงพลาสติกของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่)), 57, 66 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่)), 91 (ที่ถูกมาตรา 91 (ที่แก้ไขใหม่)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 6 ปี รวมจำคุกคนละ 11 ปี จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 ปี 3 เดือน จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (ที่ถูกมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่)), 66 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่)) การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี ฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 ปี รวมจำคุก 10 ปี ริบของกลาง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดข้อหาดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกพงศพัศ จ่าสิบตำรวจพิชัย และสิบตำรวจโทสุมิตรว่า ชั้นจับกุมจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและซัดทอดว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดเป็นของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านได้ฝากให้จำหน่ายโดยจำเลยที่ 3 ให้ค่าตอบแทนเม็ดละ 10 บาท เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 มิได้อยู่ที่บ้านที่เกิดเหตุจริงโดยจำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้อ้างว่าในช่วงเกิดเหตุได้ขายบ้านหลังดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว แต่หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ที่หน้าบ้านที่เกิดเหตุเป็นเพราะจำเลยที่ 3 กลับมาเยี่ยมนางอัมพรบุตรสาวซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ๆ กันนั้นก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้นำนางอัมพรบุตรสาวหรือบุคคลซึ่งจำเลยที่ 3 อ้างว่ารับซื้อบ้านของจำเลยที่ 3 ไปแล้วมาเบิกความยืนยัน คงมีแต่เพียงคำเบิกความกล่าวอ้างของจำเลยที่ 3 ลอยๆ เพียงปากเดียวโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือว่าความจริงเป็นดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ยังคงเป็นเจ้าของและพักอาศัยอยู่ที่บ้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 3 จึงถูกจับกุมได้ขณะยืนอยู่ที่หน้าบ้านของตน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและซัดทอดในชั้นจับกุมว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางทั้งหมดเป็นของจำเลยที่ 3 ฝากให้จำหน่ายดังกล่าวมานั้นก็เป็นการให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมทันทีในวันที่จำเลยที่ 2 ถูกจับ จึงเป็นการยากที่จำเลยที่ 2 จะปรุงแต่งเรื่องขึ้นเพื่อต่อสู้คดีหรือปรักปรำจำเลยที่ 3 และแม้จะถือได้ว่าเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันก็ตาม แต่คำซัดทอดดังกล่าวก็มิได้เป็นเรื่องการปัดความผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียว คงเป็นการให้การแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 2 ได้ประสบมาจากการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 3 ฉะนั้น เมื่อนำข้อเท็จจริงตามคำซัดทอดดังกล่าวมาพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุและพยานหลักฐานอื่นๆ ของโจทก์แล้ว เห็นว่า เป็นคำซัดทอดที่ชอบด้วยเหตุผลพอให้รับฟังว่าเป็นความจริงที่เกิดขึ้น ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น การที่จำเลยที่ 3 ฝากให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นการก่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 มิใช่เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามมาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้องซึ่งเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ย่อมลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง แต่การกระทำของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 2 ปี 8 เดือน รวมจำคุก 8 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share