คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4512/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้พยานโจทก์จะมีพฤติการณ์เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลย เมื่อพนักงานสอบสวนได้กันไว้เป็นพยาน คำเบิกความของพยานดังกล่าวอาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ แต่มีน้ำหนักน้อย มิใช่จะรับฟังไม่ได้เลยเสียทีเดียว ถ้าโจทก์มีพยานหลักฐานอื่นประกอบก็รับฟังลงโทษจำเลยได้ ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีอยู่ในฐานะเป็นคู่ความ จึงมีสิทธิที่จะเรียงคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ตลอดทั้งมีสิทธิเรียงคำฟ้องอุทธรณ์และคำแก้ อุทธรณ์ได้ เหตุความผิดฐานฆ่าผู้ตายเกิดที่อำเภอ ก. ถือว่าความผิดฐานใช้จ้าง วาน ให้ฆ่าผู้ตาย เกิดในท้องที่ดังกล่าวท้องที่หนึ่งด้วยและคดีได้เริ่มทำการสอบสวนตั้งแต่จับจำเลยยังไม่ได้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอ ก. พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจย่อมเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 ข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาเป็นเพียงระเบียบปฏิบัติภายในที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของข้อบังคับดังกล่าวหาทำให้อำนาจสั่งคดีของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอ ก. เสียไปไม่ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84,288, 289
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นางสุพัตรา สุจริตกุล ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงศักดิ์จิต สุจริตกุล และเด็กหญิงโสภิตสุจรติกุล ผู้เยาว์ ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบด้วยมาตรา 84 วรรคสองให้ประหารชีวิตจำเลยและให้ยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของโจทก์ร่วมเสีย
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมมีสิทธิร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม อนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีได้ และจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงเบื้อนต้นฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2526เวลา 14 นาฬิกาเศษ ได้มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายแสงชัย หรือโหลน ศักดิ์ศรีทวี และนายปรีดี สุจิตกุล ถึงแก่ความตายที่ตำบลกมลาอำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต แล้ววินิตฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าจ่าสิบตำรวจชุบเป็นผู้กระทำความผิดคนหนึ่ง มิใช่เป็นผู้ต้องหาตามระเบียบข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยมีการกำหนดวิธีปฏิบัติในการกันตัวผู้ต้องหาเป็นพยานเท่านั้น ไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการขออนุมัติสอบผู้ร่วมกระทำความผิดเช่นจ่าสิบตำรวจชุบเป็นพยาน การที่พนักงานสอบสวนสอบจ่าสิบตำรวจชุบไว้เป็นพยานจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ระเบียบข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว เป็นแต่เพียงข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติเท่านั้น การกันผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดเป็นพยานเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการรวบรวมพยานหลักฐานหรือพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยอันพนักงานสอบสวนชอบที่จะกระทำได้ที่จำเลยฎีกาว่า ถ้อยคำของจ่าสิบตำรวจชุบและนายประทีปเป็นแต่คำซัดทอดของผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิดด้วยกัน จึงไม่อาจรับฟังมาลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า แม้จ่าสิบตำรวจชุบและนายประทีปจะมีพฤติการณ์เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลย แต่เมื่อพนักงานสอบสวนได้กันไว้เป็นพยาน คำเบิกความของพยานทั้งสองปากอาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ แต่มีน้ำหนักน้อย มิใช่จะรับฟังไม่ได้เลยเสียทีเดียว และถ้าหากโจทก์มีพยานหลักฐานอื่นประกอบแล้วก็รับฟังลงโทษจำเลยได้… ที่จำเลยฎีกาว่า คำให้การชั้นสอบสวนของนายอาหมาด นายก้าหรีม และนายตอหาด ที่อ้างว่าจำเลยเป็นผู้สั่งให้ฆ่านายแสงชัย ผู้ตายไม่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นคำของบุคคลที่ร่วมกระทำผิดด้วยกันนั้น เห็นว่า นอกจากพนักงานสอบสวนจะสอบบุคคลทั้งสามไว้ในฐานะผู้ต้องหาตามเอกสารหมาย จ.19 จ.20 และ จ.21แล้ว เมื่อนายอาหมาดมาเบิกความที่ศาลชั้นต้นในฐานะจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 664/2526 ก็ยืนยันว่า ที่ตนให้การในชั้นสอบสวนเป็นความจริงทุกประการ นายก้าหรีมและนายตอหาดก็แถลงต่อศาลว่าเป็นความจริงดังที่นายอาหมาดเบิกความ ทั้งพันตำรวจโทสมศักดิ์พนักงานสอบสวนก็เบิกความว่า หลังจากที่ศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ลงโทษนายอาหมาด นายก้าหรีม และนายตอหาด จำเลยในคดีฆ่านายแสงชัยและนายปรีดีแล้ว พยานได้เข้าไปสอบสวนบุคคลทั้งสองในเรือนจำจังหวัดภูเก็ตในฐานะพยาน บุคคลทั้งสามยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้จ้างวาน ให้ฆ่านายแสงชัยผู้ตาย ปรากฏตามคำให้การเอกสารหมาย จ.31จ.32 และ จ.33 ตามลำดับซึ่งคำให้การดังกล่าวเป็นคำให้การของบุคคลทั้งสามในฐานะพยาน มิใช่ในฐานะผู้ต้องหาหรือจำเลย จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ที่จำเลยฎีกาว่า วันที่ 12 สิงหาคม2526 ที่พันตำรวจโทสมศักดิ์อ้างว่าไปสอบสวนนายอาหมาด นายก้าหรีมและนายตอหาดในเรือนจำจังหวัดภูเก็ตเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทางราชการหยุดราชการ จึงไม่น่าเชื่อว่าจะได้ทำการสอบสวนบุคคลทั้งสามในวันดังกล่าวนั้น เห็นว่า แม้วันที่12 สิงหาคม 2526 จะเป็นวันหยุดราชการก็ตาม แต่พนักงานสอบสวนก็สามารถที่จะสอบสวนบุคคลทั้งสามในวันดังกล่าวได้… ที่จำเลยฎีกาว่านายจรูญ เสรีถวัลย์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิเรียงและยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ตลอดทั้งไม่มีสิทธิที่จะเรียงคำฟ้องอุทธรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเท่ากับว่าไม่มีอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์โดยชอบนั้น เห็นว่านายจรูญเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ร่วมให้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ปรากฏรายละเอียดตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์2529 นายจรูญจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่ความ จึงมีสิทธิที่จะเรียงคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตลอดทั้งมีสิทธิเรียงคำฟ้องอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์ได้ และเมื่ออุทธรณ์ของโจทก์ร่วมได้ยื่นต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นอุทธรณ์ที่ชอบแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้พันตำรวจเอกพรชัย พรหมมี เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน การเสนอสำนวนการสอบสวนจะต้องเสนอต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 10 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่าเป็นผู้สั่ง การที่พนักงานสอบสวนคดีนี้กลับส่งสำนวนการสอบสวนให้แก่สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอกะทู้สั่งคดีส่งให้พนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้พิจารณาเลย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของกระทรวงหมาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 การสั่งคดีของพนักงานสอบสวนคดีนี้รวมทั้งการสั่งฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า เหตุความผิดฐานฆ่าผู้ตายเกิดที่อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ถือว่าความผิดฐานใช้จ้าง วาน ให้ฆ่าผู้ตายเกิดในท้องที่ดังกล่าวท้องที่หนึ่งด้วยโดยเฉพาะคดีนี้เริ่มทำการสอบสวนตั้งแต่จับจำเลยยังไม่ได้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกะทู้ซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจย่อมเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 ข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเป็นเพียงระเบียบปฏิบัติภายในที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวหาทำให้อำนาจสั่งคดีของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกะทู้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเสียไปไม่ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการโจทก์จึงชอบแล้ว ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยไม่เป็นสาระแก่คดี ไม่จำต้องวินิจฉัย กล่าวโดยสรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาสอดคล้องประกอบกันมั่นคง เชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานใช้ จ้าง วาน ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนดังฟ้องจริง พยานหลักฐานของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share