คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 451/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ พ. จะเป็นภรรยาเจ้าหนี้. แต่หนี้ที่ลูกหนี้มีต่อ พ. กับหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้เป็นหนี้ต่างรายกัน และเป็นเจ้าหนี้คนละคน. ฉะนั้น การนำเอาหนี้ที่มีต่อ พ.มาแถลงเป็นหนี้ของเจ้าหนี้จึงเป็นการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้.ซึ่งต้องบังคับตามบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา349 วรรคท้าย. แต่คู่กรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว. ฉะนั้น การแปลงหนี้ตามเช็คในส่วนของพ. มาเป็นหนี้เงินกู้ของเจ้าหนี้ จึงไม่สมบูรณ์. เจ้าหนี้จะนำเอาหนี้จำนวนนี้มารวมกับหนี้ของเจ้าหนี้เพื่อขอรับชำระหนี้ด้วยไม่ได้.
หนี้ตามเช็คที่ลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ แม้ว่าเช็คจะไม่ได้ลงวันที่ แต่ลูกหนี้ก็เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่จริง. เมื่อมีหนี้ต่อกันแล้วคู่กรณีก็อาจแปลงหนี้ให้เป็นหนี้เงินกู้ได้ หนี้ตามสัญญากู้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จึงมีผลสมบูรณ์.
คดีพิพาทกันด้วยเรื่องคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งมีบัญญัติไว้เป็นกฎหมายพิเศษอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2511 มาตรา 11. ฉะนั้นค่าขึ้นศาลชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจึงต้องเสียอัตราครั้งละสองร้อยบาท. จะเรียกค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ไม่ได้.และจะเรียกเพียง 50 บาทอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ก็ไม่ได้. เพราะกรณีไม่ใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง.

ย่อยาว

ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด นายไพบูลย์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 155,756 บาท โจทก์และธนาคารไทยพัฒนาจำกัด คัดค้านศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระ 107,756 บาท นายไพบูลย์และโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ อนุญาตให้นายไพบูลย์ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนตามสัญญากู้ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงได้ว่าลูกหนี้ได้มีหนี้ต่อนางพรรณีภรรยาเจ้าหนี้และเจ้าหนี้ตามเช็ค 18 ฉบับ รวมเป็นเงิน 155,756 บาทจริง ปัญหามีว่า หนี้ตามเช็คที่มีต่อนางพรรณีภรรยาเจ้าหนี้48,000 บาทนั้น จะแปลงมารวมเป็นหนี้เงินกู้ของเจ้าหนี้ด้วยได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้นางพรรณีจะเป็นภรรยาเจ้าหนี้ แต่หนี้ที่ลูกหนี้มีต่อนางพรรณีกับหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้เป็นหนี้ต่างรายกัน และเป็นเจ้าหนี้คนละคน ฉะนั้น การนำเอาหนี้ที่มีต่อนางพรรณีมาแปลงเป็นหนี้ของเจ้าหนี้ จึงเป็นการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ซึ่งต้องบังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 349 วรรคท้าย แต่คู่กรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ฉะนั้น การแปลงหนี้ตามเช็คในส่วนของนางพรรณีจำนวนเงิน 48,000 บาทมาเป็นหนี้เงินกู้ของเจ้าหนี้ จึงไม่สมบูรณ์ เจ้าหนี้จะนำเอาหนี้จำนวนนี้มารวมกับหนี้ของเจ้าหนี้เพื่อขอรับชำระหนี้ด้วยไม่ได้ ส่วนหนี้ตามเช็คที่ลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้จำนวนเงิน 107,756 บาทนั้นแม้ว่าเช็คจะไม่ได้ลงวันที่ แต่ลูกหนี้ก็เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่จริง เมื่อมีหนี้ต่อกันแล้วคู่กรณีก็อาจแปลงหนี้ให้เป็นหนี้เงินกู้ได้ หนี้ตามสัญญากู้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จึงมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้เพียง 107,756 บาท ที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นคิดค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ไม่ถูกต้อง ควรเรียกเรื่องละ 50 บาท ตามตาราง 1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งข้อ 2 ก. และ ข. นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้พิพาทกันด้วยเรื่องคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายซึ่งมีบัญญัติไว้เป็นกฎหมายพิเศษอยู่แล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511 มาตรา 11ว่าค่ายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย สำหรับหนี้สินเกินห้าหมื่นบาทขึ้นไป ค่าธรรมเนียมสองร้อยบาท ในกรณีที่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาเรื่องคำขอรับชำระหนี้ให้เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาตามอัตราเดียวกันนี้ ฉะนั้น ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกาในคดีนี้จึงต้องเสียในอัตราครั้งละสองร้อยบาท รวมเป็นสี่ร้อยบาทเท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นเรียกค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ไม่ถูกต้อง และจะเรียกเพียง 50 บาท อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ก็ไม่ได้ เพราะกรณีไม่ใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นให้ยกคำขอรับชำระหนี้จำนวนเงิน 48,000 บาทเสีย และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาที่เรียกเกินจากครั้งละ 200 บาทแก่โจทก์.

Share