คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4496/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พฤติการณ์รับฟังไม่ได้ว่า การโอนขายที่ดินพิพาทเกิดจากการสมยอมระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 พยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสามน่าเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน แม้จำเลยที่ 2 จะโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ก่อนจะถูกโจทก์ฟ้องขอให้ล้มละลายประมาณ 2 เดือนก็ตามผู้ร้องหาอาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2กับผู้คัดค้านที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 114 ได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมมีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ได้โดยชอบ แม้การโอนจะได้กระทำขึ้นภายหลังมีการขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายผู้ร้องก็ไม่มีอำนาจเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2533 โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ล้มละลาย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 12900, 12901 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยให้ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทคืนสู่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำสั่งศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้รับโอนร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินพิพาทแทนเป็นเงิน 3,668,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 12900,12901 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2และที่ 3 ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยให้ผู้คัดค้านทั้งสามดำเนินการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวกลับคืนสู่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 หากไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของผู้คัดค้านทั้งสาม คำขออื่นให้ยก
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2533 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534 ในวันที่ 6 ธันวาคม 2532 อันเป็นระยะเวลาภายใน 3 ปีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ล้มละลายนั้น จำเลยที่ 2 ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 12900 และ12901 ตำบลบางแค (หลักสอง) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1ซึ่งเป็นบุตรในราคา 900,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ค.12ต่อมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2534 อันเป็นระยะเวลาภายหลังที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้ล้มละลายแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ในราคา 1,000,000 บาท ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ค.32 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องจะร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงที่จำเลยที่ 2 โอนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 1 โอนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 2 ได้โอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ในวันที่ 6 ธันวาคม 2532 ซึ่งเป็นเวลาก่อนหน้าที่จำเลยที่ 2 จะถูกโจทก์ฟ้องขอให้ล้มละลายประมาณ 2 เดือนก็ตาม แต่สาเหตุที่จำเลยที่ 2 ต้องโอนขายที่ดินพิพาทดังกล่าวก็สืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสามได้ถูกธนาคารศรีนคร จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องให้รับผิดชำระหนี้ตามสัญญาและบังคับจำนองที่ดิน 6 แปลง ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 2 นำไปจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ต่อธนาคารศรีนคร จำกัด คดีดังกล่าวได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้วในวันที่ 8 สิงหาคม 2532 โดยมีข้อตกลงส่วนหนึ่งว่าธนาคารศรีนคร จำกัด ยินยอมให้จำเลยทั้งสามนำที่ดินทั้งหกแปลงที่จำนองไว้ไปขายให้แก่บุคคลภายนอกได้เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่ธนาคารศรีนคร จำกัด จำเลยที่ 2 จึงได้ประกาศขายที่ดินทั้งหกแปลงแก่บุคคลทั่วไป ผลสุดท้ายมีบุคคลอื่นซื้อที่ดินของจำเลยที่ 2 ไปแล้ว 5 แปลงรวมทั้งที่ดินพิพาท 2 แปลง ซึ่งนายสุวรรณ สันติวงศ์บุญ เป็นผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 2 ก่อนในราคา 900,000 บาท โดยนายสุวรรณนำเงิน 200,000 บาทมาวางมัดจำไว้แก่จำเลยที่ 2 แล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ร.2 ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1 จึงได้ขอซื้อสิทธิตามสัญญาดังกล่าวจากนายสุวรรณ โดยผู้คัดค้านที่ 1ตกลงให้เงินตอบแทนแก่นายสุวรรณเป็นเงิน 250,000 บาท ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 2 ต้องขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงและที่ดินอื่นก็เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปชำระหนี้แก่ธนาคารศรีนคร จำกัด ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา การขายที่ดินของจำเลยที่ 2 ก็มีการประกาศขายโดยเปิดเผยและมีบุคคลอื่นขอซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 2ไปรวม 3 แปลง ซึ่งผู้ร้องก็มิได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนที่ดินทั้งสามแปลงที่จำเลยที่ 2 ขายให้แก่ผู้อื่นแต่อย่างใด สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้นแม้ตามหลักฐานในสารบัญจดทะเบียนจะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 โอนขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ก็หาได้เป็นผู้ติดต่อซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ในครั้งแรกไม่ เพราะผู้คัดค้านที่ 1 มาขอซื้อสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายจากนายสุวรรณ สันติวงศ์บุญ ซึ่งเป็นผู้ขอซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ก่อนโดยนายสุวรรณเบิกความยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 มาก่อนแต่เห็นป้ายโฆษณาขายที่ดินพิพาทจึงสนใจและไปติดต่อขอซื้อจากจำเลยที่ 2 ในราคา900,000 บาท และวางเงินมัดจำจำนวน 200,000 บาท ต่อมาก่อนถึงวันนัดโอนที่ดินผู้คัดค้านที่ 1 มาขอให้นายสุวรรณขายสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทโดยให้ราคา 250,000 บาท นายสุวรรณจึงขายสิทธิตามสัญญาให้ผู้คัดค้านที่ 1 ไปซึ่งหากผู้คัดค้านที่ 1 มีเจตนาไม่สุจริตร่วมกับจำเลยที่ 2 แล้วก็น่าจะเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยตรงเสียแต่แรก หาจำต้องมาขอซื้อสิทธิต่อจากผู้อื่นซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ส่วนการซื้อขายที่ดินพิพาทรายนี้จะมีค่าตอบแทนกันจริงหรือไม่นั้น ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างตนเองเป็นพยานว่า ได้ซื้อที่ดินพิพาทในราคา 900,000 บาทตามราคาที่จำเลยที่ 2 ขายแก่นายสุวรรณซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาประเมินของกรมที่ดิน โดยผู้คัดค้านที่ 1 ชำระเงิน 250,000 บาท แก่นายสุวรรณและชำระเงินไถ่ถอนจำนองแก่ธนาคารศรีนคร จำกัด เป็นแคชเชียร์เช็ค ตามเอกสารหมาย ค.11จำนวนเงิน 393,000 บาท ซึ่งนายสุวรรณและนายสมเกียรติ รุ่งเรืองวัฒนโชติเจ้าหน้าที่ฝ่ายประนอมหนี้ของธนาคารศรีนคร จำกัด และเป็นผู้ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 ก็มาเบิกความเป็นพยานผู้คัดค้านทั้งสามรับว่าเป็นความจริงพฤติการณ์ของการณ์ซื้อขายที่ดินพิพาทจึงฟังไม่ได้ว่าเกิดจากการสมยอมระหว่างจำเลยที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 1 ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสามน่าเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจริงดังนั้น ผู้ร้องย่อมไม่อาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 ได้และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมมีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ได้โดยชอบ ผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจเพิกถอนนิติกรรมโอนดังกล่าวเช่นเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทของผู้ร้อง

Share