คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามเช็คสองฉบับโดยเช็คฉบับแรกห้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะส่วนตัวลงชื่อสั่งจ่ายและประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 ส่วนเช็คฉบับที่สองจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย คำฟ้องดังกล่าวโจทก์นำสืบได้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้เชิดให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการใด ๆ แทนห้างจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวตลอดมา เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 2มีอำนาจเช่นนั้น ดังนั้นการที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า แม้ห้างจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการไว้มิให้หุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจกระทำการโดยลำพังได้ก็ตามแต่ในทางปฏิบัติห้างจำเลยที่ 1 เชิดจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการแทนห้างแต่ผู้เดียวตลอดมา เป็นเหตุให้โจทก์และบุคคลภายนอกหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวมีอำนาจกระทำการแทนห้างจำเลยที่ 1 ได้ จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน และเป็นการเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ศาลชอบที่จะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะส่วนตัวได้ออกเช็ค 2 ฉบับให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ ฉบับแรกเป็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด สาขาคลองปะปา ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2522 จำนวนเงิน 100,000 บาท ฉบับที่ 2 เป็นเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาเสาชิงช้า ลงวันที่ 2 กันยายน 2522จำนวนเงิน 20,000 บาท โดยฉบับแรกมีจำเลยที่ 2 ลงชื่อสั่งจ่ายและประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 2 มีจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย ครั้นเมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การเป็นทำนองเดียวกันว่า ห้างจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการไว้ว่า การกระทำนิติกรรมใด ๆ ของห้างตลอดจนการรับเงินและถอนเงินจากธนาคาร หุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 3 และประทับตราของห้างอีกด้วย แต่เช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 ลงชื่อสั่งจ่ายแต่ผู้เดียว ไม่ต้องตามข้อบังคับดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชอบทั้งจำเลยที่ 1 ไม่มีมูลหนี้ใด ๆ ที่จะต้องออกเช็คให้แก่โจทก์ด้วย

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

คดีไม่มีการชี้สองสถาน ก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า แม้ห้างจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการนั้นแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติจำเลยที่ 1 ได้เชิดให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการใด ๆ แทนห้างจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวตลอดมา เป็นเหตุให้โจทก์และบุคคลภายนอกหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวมีอำนาจลงชื่อและประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 กระทำการแทนห้างจำเลยที่ 1 ได้

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำแถลงคัดค้าน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น โดยอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า เดิมโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามเช็ค 2 ฉบับ โดยเช็คฉบับแรกห้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะส่วนตัวลงชื่อสั่งจ่ายและประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 ส่วนเช็คฉบับที่ 2 จำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายดังนี้เช็ค 2 ฉบับนี้แม้โจทก์จะไม่ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง โจทก์ก็นำสืบได้อยู่แล้วว่าห้างจำเลยที่ 1 ได้เชิดให้จำเลยที่ 2เป็นผู้ทำการใด ๆ แทนห้างจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวตลอดมา เป็นเหตุให้โจทก์และบุคคลภายนอกหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวมีอำนาจลงชื่อและประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 กระทำการแทนห้างจำเลยที่ 1 ได้ เพราะเป็นการนำสืบเสมือนว่าห้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำเช่นนั้นเอง ศาลย่อมพิพากษาให้ห้างจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ได้ไม่เป็นการนอกฟ้อง การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า แม้ห้างจำเลยที่ 1ได้จดทะเบียนจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการนั้นแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติห้างจำเลยที่ 1 ได้เชิดให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการใด ๆ แทนห้างจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวตลอดมาเป็นเหตุให้โจทก์และบุคคลภายนอกหลงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวมีอำนาจกระทำการแทนห้างจำเลยที่ 1 ได้ จึงเป็นการเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 และ 180 และไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ โจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องตามคำร้องได้

พิพากษายืน

Share