คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8346/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความเสียหายที่ผู้ส่งของจะต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 เป็นกรณีที่ผู้ส่งของเป็นผู้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความในใบตราส่งเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่นเพื่อให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่ง และเมื่อผู้ขนส่งได้บันทึกตามที่ผู้ส่งของได้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความนั้นแล้ว จึงจะถือว่าผู้ส่งของได้รับรองกับผู้ขนส่งว่าข้อความที่แจ้งหรือจัดให้นั้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริงเกี่ยวกับของนั้นทุกประการ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่ถูกต้องแท้จริงของข้อความดังกล่าว มาตรา 32 วรรคสอง กำหนดให้ผู้ส่งของรับผิดชดใช้ ความเสียหายแก่ผู้ขนส่งแม้ผู้ส่งของจะได้โอนใบตราส่งนั้นให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว แต่ทั้งนี้ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลต่อบุคคลภายนอกผู้ทรงใบตราส่ง เนื่องจากผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าที่ขนส่งไม่ถูกต้องตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งอันเป็นผลมาจากผู้ส่งของยืนยันให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความที่ไม่ถูกต้องนั้น
จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ขนส่งแก่โจทก์ที่ 1 ผู้ขนส่งว่าเป็นไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 5 รายการ รวมทั้งสิ้น 173 มัด รวมน้ำหนักประมาณ 167.244 เมตริกตัน โจทก์ที่ 1 ได้ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยโดยโจทก์ที่ 1 บันทึกรายละเอียดของสินค้าตามที่จำเลยได้แจ้งไว้ มิใช่กรณีที่จำเลยแจ้งน้ำหนักของสินค้าเพื่อให้โจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่ง แต่เป็นกรณีที่จำเลยผู้ส่งของแจ้งน้ำหนักของสินค้าน้อยกว่าความจริง และความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เรือของโจทก์ที่ 2 และสินค้าอื่นซึ่งไม่ใช่สินค้าตามใบตราส่ง จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 32 มาใช้บังคับได้ เมื่อความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เรือของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งโดยตรง กรณีนี้จึงต้องบังคับตามมาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ส่งของไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นได้รับความเสียหายหรือการที่เรือเสียหาย เว้นแต่จะเป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ส่งของหรือจากสภาพแห่งของนั้นเอง โดยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งของนั้น” เมื่อฟังได้ว่าการแจ้งน้ำหนักสินค้าของจำเลยไม่ถูกต้องเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย แต่ความเสียหายที่ฝาระวางบนเรือของผู้ขนส่งหักพังลงมากระแทกกับสินค้าอื่นเสียหายก็มาจากโจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย ศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้ตามพฤติการณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 207,833.05 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อแรกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ฝาระวางเรือของโจทก์ที่ 2 ผู้ขนส่งเป็นความเสียหายที่จำเลยผู้ส่งของต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองผู้ขนส่ง ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 32 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า กรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของแจ้งน้ำหนักของสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปน้อยกว่าน้ำหนักของสินค้าตามความเป็นจริงเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งได้รับความเสียหายตามคำฟ้อง เป็นกรณีที่ต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 32 ในหมวด 3 ว่าด้วยหน้าที่และสิทธิของผู้ส่งของ แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าผู้ส่งของได้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความตามมาตรา 23 เพื่อให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่ง และเมื่อได้บันทึกให้ตามนั้นแล้ว ให้ถือว่าผู้ส่งของได้รับรองกับผู้ขนส่งว่าข้อความที่แจ้งหรือจัดให้นั้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริงเกี่ยวกับของนั้นทุกประการ
ถ้ามีความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่ถูกต้องแท้จริงของข้อความตามวรรคหนึ่ง ผู้ส่งของต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ขนส่ง แม้ว่าผู้ส่งของจะได้โอนใบตราส่งนั้นให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้ผู้ขนส่งยังคงต้องผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลต่อบุคคลภายนอก” นั้น เห็นว่า มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ส่งของเป็นผู้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความในใบตราส่งเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่น ถ้าผู้ขนส่งหรือบุคคลอื่นซึ่งออกใบตราส่งในนามของผู้ขนส่งทราบ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าข้อความดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับของที่รับไว้จริง หรือไม่ถูกต้องตรงกับของที่ได้รับบรรทุกไว้จริงในกรณีที่มีการออกใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” หรือไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของรายการดังกล่าวในใบตราส่งโดยวิธีการอันสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์ในภาวะเช่นนั้นได้ บุคคลดังกล่าวต้องบันทึกเป็นข้อสงวนไว้ในใบตราส่งโดยระบุถึงข้อที่ไม่ตรงกับความจริง เหตุแห่งความสงสัย หรือพฤติการณ์ที่ไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงได้แล้วแต่กรณี” และมาตรา 25 บัญญัติว่า “ถ้ามิได้บันทึกไว้เป็นข้อสงวนในใบตราส่งตามมาตรา 23 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้รับของไว้หรือได้บรรทุกของลงเรือในกรณีที่เป็นใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” ทั้งนี้ตามรายการที่แสดงไว้ในใบตราส่งนั้น แต่ถ้าใบตราส่งใดได้โอนไปยังผู้รับตราส่งหรือบุคคลภายนอกซึ่งได้กระทำการโดยสุจริต โดยเชื่อข้อความในใบตราส่งนั้นแล้ว ห้ามมิให้ผู้ขนส่งพิสูจน์เป็นอย่างอื่น” เห็นได้ว่า กรณีที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 32 ดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่ผู้ส่งของได้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความตามมาตรา 23 เกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่น เพื่อให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่ง และเมื่อผู้ขนส่งได้บันทึกให้ตามที่ผู้ส่งของได้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความนั้นแล้ว จึงจะถือว่าผู้ส่งของได้รับรองกับผู้ขนส่งว่าข้อความที่แจ้งหรือจัดให้นั้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริงเกี่ยวกับของนั้นทุกประการ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่ถูกต้องแท้จริงของข้อความดังกล่าว มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ส่งของรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่ผู้ขนส่งแม้ผู้ส่งของจะได้โอนใบตราส่งนั้นให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลต่อบุคคลภายนอกผู้ทรงใบตราส่งนั้น ซึ่งเห็นได้ว่าเหตุผลที่มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ส่งของรับผิดต่อผู้ขนส่งสำหรับความเสียหายดังกล่าวเป็นเพราะความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายที่ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ทรงใบตราส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลเนื่องจากผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าที่ขนส่งไม่ถูกต้องตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งอันเป็นผลมาจากผู้ส่งของยืนยันให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่นที่ไม่ถูกต้องนั้นไว้ในใบตราส่ง ความเสียหายเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับใบตราส่งตามมาตรา 32 วรรคสอง นี้ จึงมิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ขนส่งหรือเรือของผู้ขนส่งโดยตรงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31
จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ขนส่งแก่โจทก์ที่ 1 ผู้ขนส่งว่าเป็นไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 5 รายการ รวมทั้งสิ้น 173 มัด รวมน้ำหนักประมาณ 167.244 เมตริกตัน โจทก์ที่ 1 ได้ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยโดยโจทก์ที่ 1 บันทึกรายละเอียดของสินค้าตามที่จำเลยได้แจ้งไว้ มิใช่กรณีที่จำเลยแจ้งน้ำหนักของสินค้าเพื่อให้โจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งบันทึกความนั้นไว้ในใบตราส่งและความเสียหายที่เกิดขึ้นในคดีนี้เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เรือของโจทก์ที่ 2 และสินค้าอื่น กล่าวคือ เกิดแก่ฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ และสินค้าอื่นที่ฝาระวางหักพังลงมาทับซึ่งไม่ใช่สินค้าตามใบตราส่ง มิใช่ความเสียหายที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อผู้ทรงใบตราส่งซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันเป็นความเสียหายที่ผู้ส่งของต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งเนื่องจากแจ้งข้อความเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่นเพื่อให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่งไม่ถูกต้องตามมาตรา 32 ดังนี้ กรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของแจ้งน้ำหนักของสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปน้อยกว่าน้ำหนักของสินค้าตามความจริง และมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่เรือของโจทก์ที่ 2 ผู้ขนส่งและสินค้าอื่นซึ่งมิใช่สินค้าตามใบตราส่งจึงเป็นกรณีที่ไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 32 มาใช้บังคับได้ เมื่อความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เรือของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งโดยตรง กรณีนี้จึงต้องบังคับตามมาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ส่งของไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นได้รับความเสียหายหรือการที่เรือเสียหาย เว้นแต่จะป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ส่งของหรือจากสภาพแห่งของนั้นเอง โดยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งของนั้น” อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยผู้ส่งของแจ้งน้ำหนักไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 173 มัด แก่โจทก์ที่ 1 ผู้ขนส่งไม่ถูกต้องอันเป็นความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของจำเลยโดยจำเลยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งได้รับความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 31 หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 บนเรือเฮอริเทจของโจทก์ที่ 2 ผู้ขนส่งหักพังลงมากระแทกสินค้าอื่นจนฝาระวางและสินค้าอื่นนั้นได้รับความเสียหายเป็นเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยโดยจำเลยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งไม้เนื้อแข็งแปรรูปนั้น อย่างไรก็ตาม โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งก็มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการบรรทุกลงเรือซึ่งไม้เนื้อแข็งแปรรูปที่ตนทำการขนส่ง ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 10 ด้วย การที่โจทก์ทั้งสองจัดวางไม้เนื้อแข็งแปรรูปนั้นไว้บนฝาระวางดังกล่าวก็เห็นได้ว่าเป็นการจัดวางเพื่อประโยชน์และความสะดวกของโจทก์ทั้งสองเองที่ง่ายต่อการขนถ่ายสินค้าไม้นั้นลงจากเรือเมื่อถึงเมืองท่าต่อไปที่ท่าเรือโคลัมโบ ประเทศสาธารรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งมิได้ใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการบรรทุกลงเรือซึ่งไม้แปรรูปที่ตนทำการขนส่งดังกล่าวตามวิสัยของโจทก์ทั้งสองผู้ขนส่ง โจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งจึงมีส่วนประมาทในการบรรทุกไม้แปรรูปนั้นลงเรือจนเป็นเหตุให้ฝาระวางที่ 1 หักพังลงมากระแทกกับสินค้าอื่นจนได้รับความเสียหายด้วย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 บนเรือเฮอริเทจของโจทก์ที่ 2 ผู้ขนส่งหักพังลงมาและกระแทกกับสินค้าอื่นจนฝาระวางและสินค้าอื่นนั้นได้รับความเสียหายเป็นเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยผู้ส่งของและเป็นเหตุมาจากโจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งซึ่งเป็นฝ่ายผู้เสียหายมีส่วนประมาทในการก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวด้วย
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 42,755.64 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยจะชำระเป็นเงินไทย ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาใช้เงิน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ส่วนค่าทนายความให้เป็นพับ.

Share