คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1794/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นับแต่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจรับสินค้า โจทก์ส่งเงินค่าขายแถบรหัสบอกราคาสินค้าเพียง 3 ครั้ง ทั้งที่มีการขายแถบรหัสบอกราคาสินค้าทุกเดือนและมีการตรวจนับเงินพร้อมใบเสร็จรับเงินชั่วคราวให้โจทก์แล้ว นอกจากนี้โจทก์ส่งเงินให้ฝ่ายการเงินและบัญชีน้อย และมีระยะเวลาการส่งมอบเงินไม่ถี่เท่ากับผู้จัดการฝ่ายตรวจรับสินค้าคนก่อน แม้ไม่อาจฟังได้แน่ชัดว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ แต่พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีเหตุที่ไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,996 บาท เงินบำเหน็จ 226,800 บาท เงินโบนัส 22,680 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 612,360 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าชดเชย 226,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 226,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างคือวันที่ 15 มกราคม 2543 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,996 บาท เงินบำเหน็จ 226,800 บาท และเงินโบนัส 22,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินแต่ละประเภท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 มกราคม 2543) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าตั้งแต่โจทก์อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจรับสินค้า โจทก์ส่งเงินค่าขายแถบรหัสบอกราคาสินค้าเพียง 3 ครั้ง ทั้งที่มีการขายแถบรหัสบอกราคาสินค้าทุกเดือน และมีการตรวจนับเงินพร้อมใบเสร็จรับเงินชั่วคราวให้โจทก์แล้ว นอกจากนี้ตามสถิติแสดงให้เห็นว่าโจทก์ส่งเงินให้ฝ่ายการเงินและบัญชีน้อย และระยะเวลาการส่งมอบเงินก็ไม่ถี่เท่ากับผู้จัดการฝ่ายตรวจรับสินค้าคนก่อนโจทก์ เห็นว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวแม้จะไม่อาจฟังได้แน่ชัดว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ แต่พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้จำเลยมีเหตุที่ไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุนี้ได้ตามคู่มือพนักงาน ข้อ 32.2 ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรแล้ว ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share