แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ผู้เยาว์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราโดยความสมัครใจซึ่งแม้ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อบิดาโจทก์ทราบเรื่องได้ไปร้องเรียนต่อกำนันท้องที่ จำเลยที่ 1 ก็ได้ทำสัญญากับโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ หากผิดสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท และจำเลยที่ 2ได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ด้วยต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ แม้มิใช่เป็นกรณีผิดสัญญาหมั้น โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เยาว์อายุ 17 ปี ถูกจำเลยที่ 1กระทำชำเราหลายครั้งและต่อมา จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับโจทก์ว่า ได้กระทำชำเราโจทก์และสัญญาจะแต่งงานจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 หากผิดสัญญา ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาทโดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่แต่งงานและจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์และโอนที่ดินที่จำเลยที่ 2นำมาประกันให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์เป็นผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นโมฆียะ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่านางสาวสุพรพรรณ มูลตรีศรี โจทก์เป็นบุตรของนายสมรัตน์และนางเกตุ มูลตรีศรี นายสมรัตน์รับราชการเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านหนองขาม อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ส่วนจำเลยที่ 1 รับราชการเป็นพนักงานเกษตรตำบลชำยาง อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2526 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไปเที่ยวงานบ้านโคกจั๊กจั่น แล้วโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 กระทำชำเรา นายสมรัตน์บิดาโจทก์ทราบเรื่องจึงไปแจ้งความต่อนายอรุณ ทองนาค กำนันตำบลชำยาง นายอรุณใช้ให้คนไปตามจำเลยที่ 1 มาที่บ้านของนายสมรัตน์ จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และบิดามารดาของจำเลยที่ 1 มาที่บ้านของนายสมรัตน์ จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้กระทำชำเราโจทก์จริง นายสมรัตน์บอกให้จำเลยที่ 1 แต่งงานและจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ยอมรับจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ในวันที่1 กุมภาพันธ์ 2527 อ้างว่าจะต้องไปจดทะเบียนหย่ากับภริยาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเสียก่อน หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 50,000บาท ในการตกลงกันนี้มีจำเลยที่ 2 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 3 ไร่เศษมาค้ำประกันโดยสัญญาว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ 2 จะยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์และชดใช้เงิน 50,000 บาท แทนจำเลยที่ 1 ด้วย นายอรุณจึงได้เขียนสัญญามีข้อความดังกล่าวต่อหน้านายสมรัตน์บิดาโจทก์แล้ว ให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และพยานลงชื่อไว้ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.2ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2527 โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ตกลงบันทึกเพิ่มเติมสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ว่า โจทก์ยอมลดค่าเสียหายลงเหลือ 35,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะนำเงินมาชำระให้โจทก์ไม่เกินวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 ถ้าชำระเงินเรียบร้อยแล้ว โจทก์จะคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลย หากผิดนัดให้บันทึกเพิ่มเติมยกเลิกไป และใช้สัญญาเดิมบังคับ เมื่อถึงกำหนดนายสมรัตน์ บิดาโจทก์ไปถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกว่าหย่ากับภริยาคนเดิมไม่ได้จึงจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ตามสัญญาไม่ได้และไม่ยอมให้ค่าเสียหายโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่มีเงินนายสมรัตน์ไปติดต่อกับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 บอกว่าไม่มีเงินเช่นเดียวกัน นายสมรัตน์ได้ไปพบเกษตรอำเภอสีชมพูผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และได้ร้องเรียนทางวินัยต่อนายอำเภอทางราชการได้สอบสวนทางวินัยจำเลยที่ 1 แล้ว
จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ยอมทำสัญญาเอกสารหมาย จ.1เพราะกลัวถูกออกจากราชการ สัญญาเอกสารหมาย จ.1 นั้นเป็นความจริงทุกประการ หลังจากทำสัญญากันแล้ว โจทก์หรือบิดามารดาของโจทก์ไม่เคยติดต่อกับจำเลยที่ 1 ให้ไปจดทะเบียนสมรสเลย จำเลยที่ 1เคยพบกับบิดาโจทก์ แต่ไม่เคยพูดกันถึงเรื่องแต่งงาน บิดาโจทก์เคยไปทวงเงินจากจำเลยทั้งสองและบิดาจำเลยที่ 1 บิดาจำเลยที่ 1เตรียมเงิน 10,000 บาทไปให้บิดาโจทก์ที่บ้านกำนัน แต่บิดาโจทก์ไม่ยอมรับ บอกว่าจะเอา 50,000 บาท บิดาโจทก์ไม่ได้บอกให้จำเลยที่ 1 แต่งงานกับโจทก์ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 เป็นวันนัดจ่ายเงิน ไม่ใช่วันนัดแต่งงาน จำเลยที่ 2 ยินดีรับผิดแทนจำเลยที่ 1ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินหรือไม่ยอมแต่งงานกับโจทก์
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาแรกที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.1 ใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราโดยความสมัครใจ ซึ่งถือว่าไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ทราบเรื่อง ได้ไปร้องเรียนต่อกำนันท้องที่ จำเลยทั้งสองยอมทำสัญญาผูกพันตนกับโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดไว้แน่นอนในสัญญาดังกล่าวมิได้ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แม้มิใช่เป็นกรณีผิดสัญญาหมั้น โจทก์ก็ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ สัญญาเอกสารหมายจ.1 ในส่วนที่จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ โจทก์มีพยานหลายปากเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ ซึ่งในข้อนี้นายมา ลาสอน พยานจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีคนรักอยู่แล้วชื่อนางสาวปลา ทำงานที่สำนักงานเกษตรด้วยกันกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ไม่สามารถตกลงกับนางสาวปลาได้จึงไม่มาแต่งงานกับโจทก์ ขณะนั้นนางสาวปลาเป็นเพียงคนรักของจำเลยที่ 1 เท่านั้นยังไม่ได้แต่งงานกัน นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ได้เสียกับโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 มีคนรักอยู่แล้วชื่อนางสาวปลา จำเลยที่ 1 เคยนำนางสาวปลาไปเยี่ยมจำเลยที่ 2 และแนะนำให้รู้จัก จำเลยที่ 1 บอกว่าจะแต่งงานกับนางสาวปลา จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบเลยว่าจำเลยที่ 1มีภริยาแล้วอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน การที่จำเลยที่ 1 อ้างเช่นนั้นน่าเชื่อว่าเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะไม่จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ทั้งเมื่อได้พิจารณาบันทึกต่อท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งบันทึกเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2527 มีข้อความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงลดค่าเสียหายลงเหลือ 35,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะนำเงินดังกล่าวมาชำระให้ไม่เกินวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 ด้วยแล้วยิ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ แต่ประสงค์จะชำระค่าเสียหายให้โจทก์ ดังนั้นที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 นั้นจึงฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดนัด ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้เป็นเงิน 1,800 บาท”