คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4489/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์คันพิพาทเดิมเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล หลังจากดัดแปลงให้เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแล้ว เบาะสองแถวหน้าที่วางขวางตามตัวรถใช้นั่งในลักษณะปกติได้ 5 คน ส่วนพื้นที่ตอนท้ายของรถซึ่งมีเบาะอีก 2 เบาะ วางไว้กับพื้นรถตามความยาวของรถ ใช้เป็นที่เก็บยางอะไหล่และมีรอยวงล้อหลังโป่งนูนขึ้นมาทั้งสองข้าง มีลักษณะเป็นที่เก็บอุปกรณ์ของรถและใช้เป็นที่บรรทุกสิ่งของไม่อาจติดตั้งเบาะสำหรับคนนั่งในลักษณะการนั่งอย่างธรรมดาได้ เบาะที่วางไว้กับพื้นรถดังกล่าวไม่มีพนักพิงและเมื่อนั่งแล้วผู้นั่งต้องชันเข่าขึ้นเพราะไม่มีที่ห้อยเท้า ศีรษะก็อยู่ติดกับหลังคารถ ลักษณะของเบาะดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นที่นั่งตามความหมายในข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ.2524)ที่จะนำมาเป็นเกณฑ์คำนวณจำนวนที่นั่งในรถตามกฎกระทรวงดังกล่าว รถยนต์พิพาทจึงเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน การที่นายทะเบียนยานพาหนะรับจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนมาแต่แรกไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์มาขอต่อทะเบียนและชำระภาษีในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนโดยไม่ยอมจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน จำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนยานพาหนะมีอำนาจที่จะไม่รับชำระภาษีและไม่ต่อทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อเมอร์ซิเดสเบนซ์ รุ่น๓๐๐ ที.ดี. หมายเลขทะเบียน ๓ ร – ๖๕๐๒ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้จดทะเบียนถูกต้องและเสียภาษีประจำปีตามประเภทรถยนต์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวจดและต่อทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายทะเบียนยานพาหนะประจำกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมรับต่อทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ ๑รับต่อทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะได้ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงประเภทรถยนต์คันดังกล่าวจากประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่นั่ง ๑๑ คน เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคนอันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียภาษีมากกว่าเดิม การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นการจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถนำรถยนต์คันดังกล่าวออกใช้ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ทำการรับต่อทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่นั่ง ๑๑ คนให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า รถยนต์ตามฟ้องเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนั่งได้ไม่เกินเจ็ดคน บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เป็นผู้ประกอบขึ้นหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรประมาณ๕๐๐ คัน ลักษณะที่นำเข้ามาหรือประกอบขึ้นเป็นรถแวนเก๋งทึบ ประตูด้านข้าง ๒ ประตู มีเบาะนั่งเฉพาะตอนหน้า ๑ แถว ส่วนด้านหลังมีหลังคาเป็นเก๋งทึบ ด้านท้ายมีประตูอีก ๑ ประตู ลักษณะที่ประกอบขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลและได้จำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นรวมทั้งโจทก์โจทก์ร่วมกับบริษัทดังกล่าวและอู่เจริญชัยดัดแปลงต่อเติมรถยนต์คันดังกล่าวโดยเจาะประตูด้านข้างเพิ่ม๒ ประตู ข้างละ ๑ ประตู ถัดจากที่นั่งคนขับติดตั้งเบาะนั่งเพิ่มเติมตามขวาง ๑ ตอน หันหน้าไปทางคนขับ ด้านหลังติดตั้งเบาะนั่งโดยวางกับพื้นตามความยาวของรถอีก ๒ แถว หันหน้าเข้าหากัน แล้วนำมาขอจดทะเบียนเป็นประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนั่งได้ ๑๑ คน โดยเจตนาหลีกเลี่ยงการชำระภาษีประจำปีให้น้อยลง และเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีการค้า ผู้บัญชาการสอบสวนกลางในขณะนั้นในฐานะนายทะเบียนยานพาหนะทั่วราชอาณาจักรได้สั่งให้รับจดทะเบียนรถยนต์เบนซ์แวน ๓๐๐ ที.ดี. ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนั่งได้ ๑๑ คน โดยฝ่าฝืนข้อเท็จจริงและกฎหมายตามสภาพของรถยนต์ของโจทก์ที่ได้มีการดัดแปลงแล้ว นายทะเบียนยานพาหนะจะต้องรับจดทะเบียนเป็นประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน และเสียภาษีประจำปีตามความจุกระบอกสูบของเครื่องยนต์ จำเลยที่ ๔ จึงมีคำสั่งให้นายทะเบียนยานพาหนะทั่วราชอาณาจักรแจ้งให้เจ้าของรถยนต์เบนซ์แวน ๓๐๐ ที.ดี. ที่ได้จดทะเบียนเป็ยนรถยนต์ส่วนบุคคลนั่งได้ ๑๑ คน ทุกราย ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงประเภทเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน เพื่อให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและตามกฎหมาย โจทก์จดทะเบียนรถยนต์ระบุประเภทไว้ไม่ถูกต้อง และมาขอต่อทะเบียนรถยนต์โดยขอชำระภาษีประจำปีตามน้ำหนักรถยนต์เป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยจึงมีสิทธิปฏิเสธไม่รับการต่อทะเบียนรถยนต์และการชำระภาษีที่ไม่ถูกต้องของโจทก์ได้ ฯลฯ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทของโจทก์ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยทั้งสี่จะต้องรับชำระภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์คันดังกล่าวหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔ นั้นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมีอยู่สองประเภทด้วยกัน คือรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคนและรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน ปัญหาจึงมีว่ารถยนต์คันพิพาทของโจทก์เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคนหรือว่าเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า รถยนต์คันพิพาทเดิมเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล หลังจากทำการดัดแปลงให้เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแล้ว เบาะสองแถวหน้าที่วางขวางตามตัวรถนั้น ใช้นั่งในลักษณะปกติได้ ๕ คน คงโต้เถียงกันแต่เพียงว่าเบาะอีก ๒ เบาะที่วางไว้กับพื้นรถตอนท้ายตามความยาวของรถนั้นจะถือว่าเป็นที่นั่งได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในพื้นที่ตอนท้ายของรถที่มีเบาะวางกับพื้นรถนั้นได้ใช้เป็นที่เก็บยางอะไหล่และมีรอยวงล้อหลังโป่งนูนขึ้นมาทั้งสองข้าง พื้นที่ส่วนนี้จึงมีลักษณะเป็นที่เก็บอุปกรณ์ของรถและใช้เป็นที่บรรทุกสิ่งของเท่านั้นไม่อาจจะติดตั้งเบาะสำหรับคนนั่งในลักษณะการนั่งอย่างธรรมดาได้ เพราะจากพื้นรถถึงหลังคารถมีความสูงไม่พอที่จะให้ทำเช่นนั้นได้ จึงต้องใช้วิธีเอาเบาะวางไว้กับพื้นรถ ซึ่งเบาะดังกล่าวไม่มีพนักพิงและเมื่อนั่งแล้วผู้นั่งต้องชันเข่าขึ้น เพราะไม่มีที่ห้อยเท้า ซึ่งลักษณะการนั่งเช่นนี้ ก็คือการนั่งกับพื้นรถโดยมีเบาะปูรองนั่งเท่านั้น ทั้งเมื่อนั่งบนเบาะดังกล่าวแล้ว ศีรษะก็อยู่ติดกับหลังคารถ ซึ่งไม่ปลอดภัยแก่คนนั่ง เพราะในขณะที่รถวิ่งมีการกระเทือนศีรษะอาจชนหลังคาได้ ลักษณะของที่นั่งดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นที่นั่งตามปกติธรรมดา ถือไม่ได้ว่าเป็นที่นั่งตามความหมายในข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ ๓(พ.ศ.๒๕๒๔) ลงวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๒๔ ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.๒๕๒๒มาตราา ๕ (๖) จึงไม่อาจนำเอาเบาะที่วางบนพื้นรถมาเป็นเกณฑ์คำนวณจำนวนที่นั่งในรถตามกฎกระทรวงดังกล่าวได้ ฉะนั้นรถยนต์คันพิพาทของโจทก์จึงมีที่นั่งที่ใช้นั่งได้ตามปกติธรรมดาเฉพาะที่เบาะแถวหน้าและแถวที่สองที่ติดตั้งตามขวาง ซึ่งรวมกันแล้วใช้นั่งได้ ๕ คนเท่านั้น รถยนต์คันพิพาทของโจทก์จึงตกอยู่ในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน ตามพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔ การที่นายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานครรับจดทะเบียนรถยนต์คันพิพาทของโจทก์เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนมาแต่แรกนั้นจึงไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อโจทก์นำรถยนต์คันพิพาทมาขอต่อทะเบียนและชำระภาษีในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนโดยไม่ยอมจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคนเช่นนี้จำเลยที่ ๑ ย่อมมีอำนาจที่จะไม่รับชำระภาษีและไม่ต่อทะเบียนรถยนต์คันพิพาทให้โจทก์ได้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รับชำระภาษีและต่อทะเบียนรถยนต์คันพิพาทของโจทก์ในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ ฯลฯ
พิพากษายืน.

Share