คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4485/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารถือได้ว่าจำเลยมีเตนากระทำความผิดฐานหนึ่งแล้ว และการที่จำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำเลยก็มีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลอีกฐานหนึ่งต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมหาใช่กรรมเดียวไม่
ส่วนการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปนอนที่บ้านของจำเลย แล้วจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย เป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันไม่ขาดตอน ซึ่งตามพฤติการณ์จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อจะกระทำชำเราผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ซึ่งเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารเป็นการกระทำกรรมเดียว มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 317 วรรคสาม ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 4 ปี ฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 9 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 2 ปี 8 เดือน ฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 5 ปี 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 2 ปี 12 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาปรับบทว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง กับมาตรา 317 วรรคสาม เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดนั้นข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายและจำเลยกับพวกไปเที่ยวงานลอยกระทง แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน จำเลยชวนผู้เสียหายไปนอนที่บ้านของจำเลย และจำเลยกับผู้เสียหายได้ร่วมประเวณีกัน 1 ครั้ง เห็นว่า การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจารถือได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดฐานหนึ่งแล้ว และการที่จำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำเลยก็มีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลอีกฐานหนึ่งต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมหาใช่กรรมเดียวไม่ ส่วนการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปนอนที่บ้านของจำเลยแล้วจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย เป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันไม่ขาดตอน ซึ่งตามพฤติการณ์จำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อจะกระทำชำเราผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ซึ่งเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียว มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ปัญหาว่าการกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมหรือเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่ลดมาตราส่วนโทษและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่ลดมาตราส่วนโทษและไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารนั้น เห็นว่า ปรากฏตามคำร้องประกอบคำแก้ฎีกาของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายเต็มใจไปกับจำเลยและยอมให้จำเลยร่วมประเวณี หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยได้ไปสู่ขอผู้เสียหายจากบิดามารดาของผู้เสียหายแล้ว ปัจจุบันผู้เสียหายกับจำเลยอยู่กินกันฉันสามีภริยาแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้สำนึกในความผิดที่ได้กระทำและพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนัก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ใช้ดุลพินิจลดมาตราส่วนโทษและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยในความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้ากับความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share