แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าไม่มีข้อความใดระบุให้จำเลยต้องนำบุตรทั้งสองมาอยู่บ้านของจำเลยที่จังหวัดสมุทรปราการคงระบุเพียงว่าให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(1) การที่จำเลยยังคงให้มารดาของตนเลี้ยงดูบุตรทั้งสองต่อมาภายหลังการหย่าโดยจำเลยไปเยี่ยมเยียนพร้อมทั้งส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้ตลอดมาย่อมเป็นการใช้อำนาจปกครองอันเหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการหย่า
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าต่อมาโจทก์หายจากโรคเครียดเป็นปกติ และทำงานเป็นเสมียนทนายความมีเงินเดือน ๆ ละ 12,000 บาท โจทก์ได้รับบุตรทั้งสองมาเลี้ยงดูตั้งแต่ปี 2540 จนถึงวันฟ้อง โดยให้บุตรทั้งสองศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการและจำเลยได้เคยไปเยี่ยมบุตรทั้งสองที่โรงเรียนด้วย หากจำเลยนำบุตรทั้งสองกลับไปให้มารดาของจำเลยเลี้ยงดูที่จังหวัดนครสวรรค์อีกครั้ง ก็อาจเป็นการกระทบกระเทือนต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุตรทั้งสอง ซึ่งโจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูอย่างเป็นปกติสุขตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา เมื่อคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรทั้งสองประกอบกับพฤติการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวแล้ว จึงมีเหตุสมควรเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา มาเป็นโจทก์ซึ่งเป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521 โดยให้จำเลยมีสิทธิติดต่อเยี่ยมเยียนบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตามมาตรา 1584/1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเคยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร 2 คน คือ เด็กชายต่อเผ่า แก้วพนม และเด็กชายตามพันธุ์ แก้วพนม อายุ 3 ปี ต่อมาจดทะเบียนหย่าโดยมีข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย แต่จำเลยไม่ทำหน้าที่ปกครองดูแลบุตรกลับนำไปให้มารดาจำเลยเลี้ยงที่จังหวัดนครสวรรค์ส่วนจำเลยยังคงอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ เดือนหนึ่งจะไปเยี่ยมบุตรสักครั้ง เวลาโจทก์จะไปเยี่ยมบุตรจะถูกจำเลยและมารดาจำเลยกีดกัน ต่อมาโจทก์ไปนำบุตรกลับมาเลี้ยงดูที่บ้านโจทก์จังหวัดสมุทรปราการและประสงค์จะให้เข้าโรงเรียนใกล้บ้านโจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมให้ย้ายชื่อบุตรทั้งสองเข้ามาในทะเบียนบ้านของโจทก์และไม่ยอมมอบสูติบัตรให้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเข้าเรียน โจทก์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ทำอาชีพเสมียนทนายความสามารถดูแลบุตรทั้งสองได้เป็นอย่างดี ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยที่มีต่อเด็กชายต่อเผ่า แก้วพนม และเด็กชายตามพันธุ์ แก้วพนม แล้วให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ทั้งสองแต่เพียงผู้เดียว
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นความจริง จำเลยไม่ได้ประพฤติตนเสื่อมเสีย จำเลยปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองด้วยดีมาตลอด จำเลยกำหนดที่อยู่ของบุตรทั้งสองให้อยู่กับมารดาจำเลยที่จังหวัดนครสวรรค์ จัดให้บุตรทั้งสองได้รับการศึกษาตามวัยอันควร และกลับไปเยี่ยมบุตรทุกวันเสาร์อาทิตย์ จำเลยไม่เคยกีดกันโจทก์ในการเยี่ยมบุตรทั้งสอง โจทก์รับบุตรทั้งสองไปเที่ยวแล้วไม่ส่งคืนจำเลย ก่อนโจทก์จำเลยจะหย่ากันโจทก์ประพฤติตนไม่รับผิดชอบครอบครัว เสพสุราเป็นประจำ นอกจากบุตรที่เกิดกับจำเลย 2 คนแล้ว โจทก์ยังมีบุตรติดสามีเก่าอีก 2 คน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งว่า เดิมโจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีบุตรชายฝาแฝดสองคนคือเด็กชายต่อเผ่า แก้วพนม และเด็กชายตามพันธุ์ แก้วพนม ต่อมาโจทก์และจำเลยหย่าโดยความยินยอม โดยมีบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าให้บุตรทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดา และจำเลยให้โจทก์ไปมาหาสู่บุตรได้ตลอดเวลาดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 หลังการหย่า จำเลยนำบุตรทั้งสองไปให้มารดาจำเลยเลี้ยงดูที่จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนจำเลยยังคงพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์รับบุตรทั้งสองมาอยู่ด้วยที่จังหวัดสมุทรปราการและไม่คืนบุตรทั้งสองให้จำเลยจนกระทั่งปัจจุบัน พิเคราะห์แล้ว คดีนี้แม้โจทก์ฟ้องโดยมีคำขอท้ายฟ้องให้เพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจแต่ฝ่ายเดียวตามข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า แต่ตามคำบรรยายฟ้องและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามที่ได้เคยตกลงไว้กับจำเลย จึงพออนุโลมได้ว่า โจทก์ขอให้มีการเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521 คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สมควรเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรทั้งสองตามที่ได้ตกลงเป็นหนังสือกับโจทก์ มาเป็นให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือไม่ โดยโจทก์อ้างว่า จำเลยกระทำผิดข้อตกลงดังกล่าว ด้วยการนำบุตรทั้งสองไปให้มารดาจำเลยเลี้ยงดูที่จังหวัดนครสวรรค์ แทนที่จำเลยจะเลี้ยงดูด้วยตนเองที่จังหวัดสมุทรปราการ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่า ฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด” และมาตรา 1521 บัญญัติว่า “ถ้าปรากฏว่าผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือผู้ปกครองตามมาตรา 1520 ประพฤติตนไม่สมควร หรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือผู้ปกครองโดยคำนึงถึงความผาสุก และประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ” เหตุนี้กรณีตามฟ้องของโจทก์จึงต้องพิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏระหว่างโจทก์จำเลยว่า จำเลยประพฤติตนไม่สมควรหรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป อันจะเป็นเหตุให้ศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือไม่ สำหรับข้อที่ว่าจำเลยประพฤติตนไม่สมควรหรือไม่นั้น ตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์คงอ้างลอย ๆ ว่า จำเลยปฏิบัติผิดข้อตกลง โดยนำบุตรทั้งสองไปให้มารดาจำเลยเลี้ยงอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ แทนที่จำเลยจะเป็นผู้เลี้ยงดูด้วยตนเองที่จังหวัดสมุทรปราการทำให้บุตรทั้งสองขาดความอบอุ่น ซึ่งเมื่อพิเคราะห์บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า ตามเอกสารหมาย จ.3 แล้วไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดระบุให้จำเลยต้องนำบุตรทั้งสองมาอยู่บ้านของจำเลยที่จังหวัดสมุทรปราการ คงระบุเพียงว่าให้บุตรทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเท่านั้น เหตุนี้จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตรทั้งสองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(1) นอกจากนี้โจทก์ยังเบิกความรับว่าขณะอยู่กินกับจำเลยโจทก์มีอาการป่วยเพ้อ มารดาโจทก์จึงบอกจำเลยให้นำบุตรทั้งสองไปให้มารดาของจำเลยซึ่งอยู่จังหวัดนครสวรรค์เป็นผู้เลี้ยงดู ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าว นางสงบ คำปาน มารดาโจทก์ได้เบิกความยืนยันว่า โจทก์เคยเป็นโรคเครียด มีอาการเพ้อเจ้อ พยานจึงพาไปรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ดังปรากฏตามบัตรประจำตัวคนไข้เอกสารหมาย จ.6 พยานเห็นว่าไม่ควรให้บุตรทั้งสองของโจทก์เห็นสภาพของโจทก์ซึ่งเป็นมารดา จึงให้จำเลยนำบุตรทั้งสองไปฝากมารดาจำเลยเลี้ยงดู ฉะนั้น การที่จำเลยยังคงให้มารดาของตนเลี้ยงดูบุตรทั้งสองต่อมาภายหลังการหย่าโดยจำเลยไปเยี่ยมเยียนพร้อมทั้งส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้ตลอดมาย่อมเป็นกรณีที่ใช้อำนาจปกครองอันเหมาะสมและสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการหย่า หาใช่เป็นการประพฤติตนไม่สมควรแต่ประการใดไม่ อย่างไรก็ดี ปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาตามทางนำสืบของโจทก์ว่า ปัจจุบันโจทก์หายเป็นปกติ และทำงานเป็นเสมียนทนายความอยู่กับพี่ชายซึ่งเป็นทนายความมีเงินเดือน ๆ ละ 12,000 บาท โจทก์ได้รับบุตรทั้งสองมาเลี้ยงดูตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน โดยให้บุตรทั้งสองศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการ และจำเลยได้เคยไปเยี่ยมบุตรทั้งสองที่โรงเรียนด้วย ซึ่งจำเลยก็เบิกความรับว่าได้เคยไปเยี่ยมบุตรที่โรงเรียนดังกล่าวจริง จึงเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ ทั้งจำเลยก็มิได้โต้แย้งว่าโจทก์มีพฤติการณ์และสถานะไม่เหมาะสมในการเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง เหตุนี้หากจำเลยนำบุตรทั้งสองกลับไปให้มารดาของจำเลยเลี้ยงดูที่จังหวัดนครสวรรค์อีกครั้ง ก็อาจเป็นการกระทบกระเทือนต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุตรทั้งสองซึ่งโจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูอย่างเป็นปกติสุขตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรทั้งสองประกอบกับพฤติการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวแล้ว จึงเห็นสมควรเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองจากจำเลยซึ่งเป็นบิดา มาเป็นโจทก์ซึ่งเป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 และ 1521 โดยให้จำเลยมีสิทธิติดต่อเยี่ยมเยียนบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1584/1 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กชายต่อเผ่า แก้วพนมและเด็กชายตามพันธุ์ แก้วพนม บุตรทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์ โดยให้จำเลยมีสิทธิติดต่อกับบุตรทั้งสองได้ตามควรแก่พฤติการณ์