คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4479/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “จำเลยมีที่อยู่” ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 (1) หมายถึงถิ่นที่อยู่ที่แท้จริงของจำเลยในขณะที่จำเลยตกเป็นผู้ต้องหาตามที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนไว้ ซึ่งอาจเป็นภูมิลำเนาหรือมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยที่จะได้รับความสะดวกในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
เรือนจำจังหวัดปราจีนบุรีตามที่โจทก์ระบุมาในฟ้อง มิใช่ที่อยู่ที่แท้จริงของจำเลยทั้งสอง โดยเป็นเพียงสถานที่ที่จำเลยที่ถูกคุมขังไว้หลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีอื่นแล้ว และจำเลยที่ 2 ถูกคุมขังตามคำสั่งของกรมราชทัณฑ์เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นที่อยู่ของจำเลยทั้งสองตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓, ๘๐, ๘๓, ๒๘๙, ๓๓๙, ๓๔๐ ตรี ริบของกลาง
เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องจำเลยทั้งสองไว้พิจารณา แต่ต่อมาศาลชั้นต้นเห็นว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจชำระความคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒(๑) จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งประทับฟ้องและมีคำสั่งใหม่ว่าไม่รับประทับฟ้องจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องของโจทก์ว่าเหตุคดีนี้เกิดที่ตำบลปากพลี อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ได้ทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว ที่โจทก์ฎีกาสรุปเป็นใจความได้ว่า ตามพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔(๑) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๓๔ ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๑ ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “บ้าน” ว่าหมายถึง “โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่ประจำซึ่งมีเจ้าบ้านครอบครองและให้หมายความรวมตลอดถึงแพหรือเรือซึ่งจอดเป็นประจำและใช้เป็นที่อยู่ประจำ โรงพยาบาล โรงแรม เรือนจำ หรือสถานที่อย่างอื่นซึ่งอาจเป็นที่อยู่อาศัยด้วย” และตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “บ้าน” ว่าหมายถึง”ที่อยู่” ในเมื่อเรือนจำถือเป็นบ้านและบ้านคือที่อยู่ ตามนัยดังกล่าว เรือนจำจึงเป็นที่อยู่ของจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒(๑) โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรีได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒ บัญญัติไว้ว่า”เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น แต่ถ้า (๑) เมื่อจำเลยมีที่อยู่หรือถูกจับในท้องที่หนึ่งหรือเมื่อเจ้าพนักงานทำการสอบสวนในท้องที่หนึ่งนอกเขตของศาลดังกล่าวแล้ว จะชำระที่ศาลซึ่งท้องที่นั้น ๆ อยู่ในเขตอำนาจก็ได้ ฯลฯ” และมาตรา ๑๘ บัญญัติไว้ว่า “ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอและข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดหรืออ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตนหรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้ ฯลฯ” จากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั้งสองมาตราดังกล่าว คำว่าจำเลยมีที่อยู่ ย่อมหมายถึงถิ่นที่อยู่ที่แท้จริงของจำเลย ขณะที่จำเลยตกเป็นผู้ต้องหาตามที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนไว้นั้นเอง ซึ่งอาจเป็นภูมิลำเนาหรือมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยที่จะได้รับความสะดวกในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เป็นประการสำคัญ ส่วนเรือนจำจังหวัดปราจีนบุรีตามที่โจทก์ระบุมาในฟ้องนั้น มิใช่ที่อยู่ที่แท้จริงของจำเลยทั้งสอง โดยเป็นเพียงสถานที่ที่จำเลยที่ ๑ ถูกคุมขังไว้หลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีอื่นแล้ว และจำเลยที่ ๒ ถูกคุมขังตามคำสั่งของกรมราชทัณฑ์เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเรือนจำจังหวัดปราจีนบุรีเป็นที่อยู่ของจำเลยทั้งสองตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒(๑)
พิพากษายืน.

Share