คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4475/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้และภาษีการค้าของโจทก์และโจทก์ได้ชำระภาษีตามที่ประเมินแล้วต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจพบว่าการประเมินภาษีนั้นไม่ถูกต้องเจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจที่จะแก้การประเมินที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ตามอำนาจที่บัญญัติไว้ในป.รัษฎากรมาตรา19และมาตรา20.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่ายภาษีการค้าและเงินเพิ่มเป็นเงิน 129,370.15 บาท ซึ่งโจทก์ได้ชำระให้จำเลยแล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม เพิ่มขึ้นอีกเป็นเงิน 349,980.49 บาท โจทก์เห็นว่าเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินซ้ำและใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์และให้จำเลยระงับการเรียกชำระค่าภาษีและงดการเรียกเงินเพิ่มทั้งหมด
จำเลยให้การว่า โจทก์ยังเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบปีบัญชี2522 ถึง 2524 ไม่ถูกต้อง จึงประเมินใหม่ให้ถูกต้อง
ศาลแพ่งแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่าเมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีและผู้ต้องเสียภาษีได้ชำระภาษีตามประเมินแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจะออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและประเมินภาษีใหม่ไม่ได้ พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์แต่คำขอที่ให้ระงับการเรียกชำระค่าภาษีนั้นเท่ากับเป็นการขอทุเลาการเสียภาษีซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรโดยเฉพาะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 31 ศาลสั่งไม่ได้ให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “การที่กรมสรรพากรจำเลยตรวจพบข้อบกพร่องหลายประการในการประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากโจทก์ของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์กรมสรรพากรจำเลยจึงส่งเรื่องให้สำนักงานเขตสรรพากรเขต 3 นครราชสีมาออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบทบทวน เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงขึ้นดังกล่าวเจ้าพนักงานประเมินสำหรับท้องที่สรรพากรเขต 3 นครราชสีมา จึงย่อมมีอำนาจที่จะแก้การประเมินที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ตามอำนาจที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 19 และมาตรา 20 กรณีเช่นนี้หาใช่เป็นการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าวแห่งประมวลรัษฎากร ซ้ำในเหตุเดียวกันดังที่โจทก์แก้ฎีกาไม่ และแม้โจทก์จะได้เสียภาษีตามการประเมินซึ่งผิดพลาดของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ไปแล้ว ก็ไม่เป็นเหตุตัดอำนาจเจ้าพนักงานประเมินที่จะแก้ไขการประเมินนั้นให้ถูกต้องได้ และในเรื่องนี้แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนดังโจทก์แก้ฎีกา แต่ก็ไม่หมายความว่า เมื่อเจ้าพนักงานประเมินสำหรับท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์แล้วแม้จะมีข้อผิดพลาดก็จะต้องเป็นยุติไปตามขั้นตอนดังศาลชั้นต้นวินิจฉัย ทั้งนี้เพราะประมวลรัษฎากรไม่มีบทบัญญัติห้ามเรียกตรวจสอบไต่สวน และแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดใหม่ดังที่โจทก์ฎีกาตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3580/2524 ระหว่างหม่อมหลวงฉันแข ดารากร โจทก์ กรมสรรพากรกับพวกจำเลย ฉะนั้นการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับท้องที่สรรพากรเขต 3 นครราชสีมาตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 และ 8 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 11 จึงชอบด้วยกฎหมายโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามการประเมินดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์”.

Share