คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4473/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำการละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง แต่โจทก์มี ส.ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบกิจการขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประภันภัย แต่ตามคำเบิกความของ ส.พยานโจทก์ไม่ได้ความว่าทราบความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามที่เบิกความมาในทางใด เป็นเพียงแต่เบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานอื่นสนับสนุน แม้แต่ร้อยตำรวจโทจ.พยานโจทก์อีกปากหนึ่งผู้สอบสวนและผู้รับแจ้งเหตุคดีนี้ก็มิได้เบิกความถึงเรื่องนี้เลยดังนั้น ข้อนำสืบของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้าง และได้กระทำการในทางที่จ้างของจำเลยที่ 2
แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา รวมทั้งจำเลยที่ 3 ซึ่งยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้ แต่จำเลยที่ 3 มิได้นำสืบพยานก็ตาม แต่โจทก์จะชนะคดีก็ต่อเมื่อศาลเห็นว่า ข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่โจทก์นำสืบไม่สมฟ้องจึงไม่อาจชนะคดีได้ จำเลยที่ 2ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ และเมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ในฐานผู้รับประกันภัยย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยร่วมรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดขึ้นแก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 3 ฎีกาฝ่ายเดียว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247

Share