คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4470/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของตึกแถวได้จดทะเบียนให้ ส. เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกิน ส. มีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์จากตึกแถว แต่กรรมสิทธิ์ในตึกแถวยังเป็นของโจทก์ ด้วยอำนาจการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดทำให้ตึกแถวเสียหายได้ การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างโดยไม่จำกัดแม้หนี้ดังกล่าวจะเกิดจากมูลละเมิด โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อตึกแถวของโจทก์ จึงมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อโจทก์ฟ้องคดียังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 รับเหมาก่อสร้างศูนย์การค้าซึ่งอยู่ติดกับตึกแถวของโจทก์ ในการก่อสร้างจำเลยที่ 1 ให้คนขุดดินตอกเสาเข็มเป็นเหตุให้ดินใต้ตึกแถวของโจทก์ไหลไปยังที่ดินที่ก่อสร้างทำให้ตึกแถวของโจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องซ่อมเป็นราคา 148,440 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระพร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ทำการก่อสร้างด้วยความระมัดระวังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่ตึกแถวของโจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้รับจ้างตอกเสาเข็มค่าเสียหายที่เรียกร้องสูงเกินสมควรและเกินความจริง จำเลยที่ 2 มิได้รับจ้างสร้างอาคารไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินหนึ่งปี นับแต่วันทราบว่าห้องแถวของโจทก์เสียหาย คดีโจทก์ขาดอายุความ ทั้งโจทก์ไม่ใช่ผู้ครอบครอง ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 62,740 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของตึกแถวตามฟ้องได้จดทะเบียนให้พลตำรวจตรีไสวรินทร์ เลขวณิช เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกันตลอดชีวิต พลตำรวจตรีไสวรินทร์ให้นางโหม่วเจ็ง แซ่เหลียง เป็นผู้เช่ามีกำหนด 15 ปีระหว่างการเช่าได้มีการก่อสร้างศูนย์การค้าศรีศุภราชซึ่งอยู่ติดกับตึกแถวของโจทก์การก่อสร้างศูนย์การค้าดังกล่าวมีการตอกเสาเข็ม เป็นเหตุให้ตึกแถวของโจทก์เสียหายและได้ทำการขุดดินก่อสร้างที่จอดรถใต้ดินของศูนย์การค้านั้นด้วย ปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าวชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่เห็นว่า แม้พลตำรวจตรีไสวรินทร์จะเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาซึ่งประโยชน์จากตึกแถวตามฟ้องก็ตาม แต่กรรมสิทธิ์ตึกแถวนั้นยังเป็นของโจทก์อยู่ด้วยอำนาจการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เมื่อผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ตึกแถวอันเป็นทรัพย์ของโจทก์เสียหายย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์เพราะผู้ทำให้เสียหายนั้นไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายเช่นนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ให้ผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้นชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

ที่จำเลยฎีกาเป็นปัญหาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดด้วยนั้น เห็นว่า ในปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1087 บัญญัติไว้ความว่า ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ ต้องเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้น ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัด ทั้งนี้ตามมาตรา 1077(2) และเห็นว่า คำว่าหนี้ที่หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดต้องร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นหมายถึงหนี้ทั้งปวงที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดก่อขึ้น การกระทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายก็เป็นหนี้อย่างหนึ่งอันเกิดจากมูลละเมิด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้ ถ้าหากจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดและเกิดความเสียหายต่อโจทก์

ที่จำเลยฎีกาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาตึกแถวของตนคืน หรือห้ามจำเลยมิให้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องกับตึกแถวของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ดังคำแก้ฎีกาของโจทก์ แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ทำให้ตึกแถวของโจทก์เสียหายอันเกิดจากมูลละเมิด มีอายุความฟ้องร้องหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือภายในสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ตามมาตรา 448 โจทก์เพิ่งทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2524 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2524 ยังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันรู้ตัวผู้ทำละเมิดและผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองรวมเป็นเงิน 45,250 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share