คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4230/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้รับจำนองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาเช่าทรัพย์ ซึ่งผู้จำนองสมคบร่วมกับผู้เช่ากระทำลงโดยรู้อยู่ว่าเป็นการผิดสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนอง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการบังคับคดีของผู้รับจำนองเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนอง กรณีเช่นนี้ไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 722 มาใช้ปรับแก่คดีได้ เพราะสัญญาเช่าทรัพย์เป็นบุคคลสิทธิไม่ใช่ภาระจำยอมหรือทรัพย์สิทธิอย่างอื่น จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 มาใช้ปรับแก่คดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์เป็นเงิน 6,800,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ 2 นำที่ดินมีโฉนดรวม 29 แปลงจำนองเป็นประกันรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีโรงภาพยนตร์ประชาบดีด้วยสัญญาจำนองระบุว่า ในระหว่างจำนองผู้จำนองจะให้สิทธิแก่ผู้อื่นเพื่อให้เกิดผลผูกพันในทรัพย์ที่จำนอง ต้องได้รับความยินยอมอนุญาตจากผู้รับจำนองเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำโรงภาพยนตร์ประชาบดีไปทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปี โดยจำเลยทั้งสามรู้ว่าการเช่าดังกล่าวขัดต่อข้อตกลงในสัญญาจำนอง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการบังคับคดีของโจทก์เอาแก่ทรัพย์ที่จำนอง ขอให้พิพากษาเพิกถอนการทำสัญญาเช่าดังกล่าว

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 เพราะศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้างโดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่จำนอง จำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้เช่าโรงภาพยนตร์ จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ให้ความยินยอมเท่านั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ประชาบดีผิดข้อตกลงตามสัญญาจำนอง พิพากษาให้เพิกถอนสัญญาเช่าทรัพย์ดังกล่าว

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ประชาบดีกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตโดยเปิดเผย และเสียค่าตอบแทน ทั้งได้จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องแล้ว ข้อตกลงในสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาเช่าทรัพย์ ซึ่งเป็นบุคคลสิทธิระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 722 มาปรับแก่คดีได้ เพราะสัญญาเช่าทรัพย์ไม่ใช่ภารจำยอมหรือทรัพย์สิทธิอย่างอื่นแต่หากต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 มาปรับแก่คดีแล้วฟังข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยที่ 3 ทราบข้อความในสัญญาจำนองโดยตลอดการที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ประชาบดีกับจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมอบอำนาจนั้น ย่อมเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบ เพราะการบังคับจำนองทรัพย์ที่มีสัญญาเช่าผูกพันอยู่ย่อมทำให้การขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวได้ราคาต่ำกว่าทรัพย์ที่ไม่มีสัญญาเช่าผูกพันโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ขอให้เพิกถอนสัญญาเช่าตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในผล

พิพากษายืน

Share