คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 447/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องว่า จำเลยได้หักเงินสะสมไว้เป็นรายเดือนในระหว่างปฏิบัติงาน โจทก์ควรได้เงินสะสมดังกล่าวแต่จำเลยไม่จ่ายให้ แม้โจทก์มิได้ขอแก้ไขคำขอบังคับท้ายคำฟ้องให้รับกับคำฟ้องที่แก้ไขก็ตามแต่ตามเนื้อความที่ขอแก้ไขนั้นแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ได้แจ้งชัดว่า โจทก์ประสงค์ที่จะเรียกร้องเงินสะสมจากจำเลย คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่โจทก์มิได้ขอแก้ไขคำขอบังคับท้ายคำฟ้องให้ครบถ้วนเพียงเท่านี้ไม่ถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ถูกถ้วน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วพิพากษาหรือสั่งตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องที่ศาลสั่งอนุญาตแล้วนั้น หาเป็นการพิพากษาหรือสั่งที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา 52 ไม่
คดีแรงงานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อเท็จจริงเสียเองไม่ได้ต้องย้อนสำนวนไปให้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา 31 และมาตรา 56

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำในขณะปฏิบัติงานโจทก์ประสบอุบัติเหตุต้องรักษาตัวเป็นเวลา ๙ เดือนเป็นเงินค่าทดแทนที่โจทก์ควรได้รับ ๔๖,๘๐๐ บาท ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้น ๓๙,๐๕๔ บาท นับแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ ถึง พ.ศ.๒๕๒๙ ที่โจทก์ทำงาน จำเลยได้หักเงินเดือนโจทก์เป็นเงินสะสมไว้เดือนละ ๒๐๐ บาท เวลา ๒๖ ปี เป็นเงินสะสม ๖๒,๔๐๐ บาท ต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานเกินกว่าสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบ อันเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ส่วนที่โจทก์เรียกร้องเงินทดแทนนั้นโจทก์มิได้ประสบอุบัติเหตุล้มป่วยขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ สำหรับเงินสะสมจำเลยเพิ่งก่อตั้งเป็นบริษัทเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๕ ที่โจทก์อ้างว่าทำงานกับจำเลยตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ จึงไม่เป็นความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๔,๑๕๒ บาท ค่าชดเชย ๓๑,๒๐๐ บาท แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ชั้นเดิมโจทก์ฟ้องและมีคำขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเพียงสองประเภทเท่านั้น ต่อมาจึงได้ขอแก้ไขคำฟ้องโดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยยังมิได้จ่ายเงินอีกสามประเภทให้แก่โจทก์ และขอเพิ่มจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มจากจำนวนตามคำฟ้องเดิม เฉพาะที่เป็นปัญหาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกามีเฉพาะเงินสะสมประเภทเดียว เรื่องเงินสะสมนี้โจทก์บรรยายในคำร้องขอแก้ไขฟ้องในข้อ ง. ว่า ‘เงินสะสมของพนักงานที่ทางบรษัทจำเลยหักไว้ให้แต่ละเดือนเฉลี่ยแล้วเดือนละ ๒๐๐ บาท โจทก์ทำงานกับบริษัทจำเลยมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๓ ถึงปี ๒๕๒๙ เป็นเวลาที่ปฏิบัติงานมาถึง ๒๖ ปี โจทก์ควรจะได้เงินสะสมจำนวนนี้อีก ๖๒,๔๐๐ บาท แต่จำเลยไม่เคยจ่ายให้โจทก์เลย’ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า ‘สำเนาให้อีกฝ่ายสอบสั่งในวันนัด’ครั้นถึงวันนัดศาลแรงงานสั่งว่า “โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง สำเนาให้จำเลยโจทก์ขอแก้ฟ้องก่อนจำเลยยื่นคำให้การจึงอนุญาตตามขอ” หลังจากนั้น ศาลแรงงานกลางได้ชี้สองสถานและกำหนดประเด็นข้อพิพาทในวันนัดต่อมาเฉพาะเงินสะสม ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ‘จำเลยได้หักเงินสะสมโจทก์ไว้จริงหรือไม่เพียงใด’
พฤติการณ์แห่งคดีเป็นตามที่กล่าวข้างต้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์มิได้ขอแก้ไขคำขอบังคับท้ายคำฟ้องให้รับกับคำฟ้องที่แก้ไขก็ตามแต่ตาม เนื้อความที่ขอแก้ไขนั้น ย่อมเห็นเจตนาของโจทก์ได้แจ้งชัดว่า โจทก์ประสงค์ที่จะเรียกร้องเงินสะสมจากจำเลย ความในวรรคท้ายของคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องที่ถัดจากข้อ ง. โจทก์บรรยายถึงความประสงค์โดยเน้นว่า ‘….เป็นสิทธิและประโยชน์ที่โจทก์ควรจะได้ทุกประการขอ ศาลได้โปรดประทานความเมตตาให้โจทก์…’ ซึ่งศาลแรงงานกลางคงได้เห็นความข้อนี้อยู่ และเห็นว่าคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงสั่งอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องได้ตามขอ และตั้งประเด็นข้อพิพาทสำหรับเงินสะสมไว้ด้วยโดยมิได้ถือว่าการที่โจทก์มิได้ขอแก้ไขคำขอบังคับท้ายคำฟ้องเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายจนไม่อาจบังคับให้ได้ การที่โจทก์มิได้ขอแก้ไขคำขอบังคับท้ายคำฟ้องให้ครบถ้วนเพียงเท่านี้ไม่อาจถือได้ว่าฟ้องโจทก์ไม่ถูกถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง ซึ่งนำมาใช้แก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ อีกประการหนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องเงินสะสมนี้ ‘ปรากฏในคำฟ้อง’ต้องตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา ๕๒ แล้ว การที่ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยแล้วพิพากษาหรือสั่งตามคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องที่ศาลสั่งอนุญาตแล้วนั้น หาเป็นการพิพากษาหรือสั่งที่ฝ่าฝืนบทมาตราของกฎหมายตามที่กล่าวข้างต้นนั้นไม่ จำเลยหักเงินสะสมโจทก์ไว้จริงหรือไม่ เพียงใดเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยชี้ขาดเสียเองได้ จึงชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๕๖
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในประเด็นเรื่องเงินสะสม ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาคดีใหม่เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเงินสะสมตามประเด็นข้อพิพาทในการชี้สองสถานแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share