คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3977/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเป็นศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้นั้น เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีโดยมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะซึ่งไม่อยู่ในอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 250,000 บาท แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยทั้งสองเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้
โจทก์ จำเลยทั้งสอง และเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์สินในส่วนของจำเลยที่ 1 ได้ แต่ในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น เนื่องจากผู้ร้องมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 ไม่อาจขอเฉลี่ยทรัพย์สินในส่วนของจำเลยที่ 2 ได้ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าผู้ร้องมีสิทธิขอเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีโดยมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะซึ่งไม่อยู่ในอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) และมาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ต้องให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งใหม่โดยให้มีผู้พิพากษาครบองค์คณะ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share